พาณิชย์บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ดูผลผลิตข้าว ก่อนหามาตรการรับมือ

พานิชย์บุรีรัมย์ลงพื้นที่ดูข้าว

“พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์” นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ข้าวปีการผลิต 2563/64 เพื่อประเมินแนวโน้มผลผลิต และเตรียมมาตรการรับมือเป็นการล่วงหน้า

นายศิริพงษ์ วิวัฒน์เกษมชัย พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน นำคณะลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค.2563 ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดข้าวปีการผลิต 2563/64 ว่าปริมาณผลผลิตข้าวจะมีจำนวนเท่าใด สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามนโยบายที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ในส่วนกลาง ที่ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ทำการสำรวจสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมมาตรการช่วยเหลือเป็นการล่วงหน้า

โดยผลการสำรวจติดตามสถานการณ์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร อ.พลับพลาชัย พบว่า ปีการผลิต 2563/64 จ.บุรีรัมย์ ได้กำหนดเป้าหมายการปลูกข้าวนาปี จำนวน 2,547,500 ไร่ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกแล้ว 168,847 ราย พื้นที่ 2,046,257 ไร่ เป็นข้าวหอมมะลิ พื้นที่ 1,996,392 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิต 708,719 ตัน เพิ่มขึ้น 10% ส่วนผลผลิตข้าวรวมทุกชนิดคาดว่าจะมีปริมาณ 1,135,662 ตัน เก็บไว้ทำพันธุ์ 50,745 ตัน เก็บไว้บริโภค 376,983 ตัน และเหลือจำหน่าย 707,934 ตัน

ทั้งนี้ ยังได้ติดตามสถานการณ์ด้านการตลาดข้าว ณ โรงสีมณีราชกิจ 2 อ.พลับพลาชัย , โรงสีไฟสุรินทร์เกียรติอาภาเดช อ.เมืองสุรินทร์ และที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรินทร์ไชยศิริ อ.จอมพระ พบว่าการซื้อขายข้าวเปลือกเป็นไปตามปกติ แต่มีปริมาณข้าวเข้าสู่โรงสีน้อย เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูนาปรัง และยังได้ติดตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2562/63 คือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด จ.สุรินทร์ และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ที่โรงสีไฟสุรินทร์เกียรติอาภาเดช ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถช่วยดึงผลผลิตข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกมามากได้ และทำให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวดีขึ้น


ขณะเดียวกัน ได้ใช้โอกาสนี้ทำการชี้แจงเกษตรกร โรงสี และผู้ประกอบการค้าข้าว เกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 2 ที่จะเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563-1 พ.ค.2564 และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก , โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร , โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก , โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จะสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ , โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกและโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย