กรมเจรจาฯ ชวนสภาเกษตรฯ ติดปีกเกษตรกรเร่งใช้ FTA ดันส่งออก

กรมเจรจาฯ จับมือพันธมิตรสภาเกษตรกรแห่งชาติลุยลงพื้นที่สระบุรีดูความพร้อมสินค้าเกษตร เตรียมพร้อมสำหรับการค้ายุค นิวนอร์มอล พบ สินค้าข้าวโพดราชินีทับทิมสยาม และข้าวกล้องอินทรีย์ มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง แนะใช้ FTA เพิ่มโอกาสในตลาดต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมลงพื้นที่จังหวัดสระบุรีกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในการเตรียมความพร้อมสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยรองรับการค้ายุคนิวนอร์มอล โดยเฉพาะการพัฒนาจุดแข็งและความได้เปรียบของสินค้าเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินงานและแปลงข้าวโพดพันธุ์ราชินีทับทิมสยาม ของบริษัทวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไทย จำกัด รวมทั้งได้เยี่ยมชมแปลงนาและโรงสีข้าว ซึ่งพัฒนามาเป็นข้าวกล้องอินทรีย์จำหน่ายและส่งออกโดยบริษัท Nature Food Products and Marketing จำกัด ซึ่งพบว่าสินค้าของทั้งสองแห่งมีศักยภาพและมีความพร้อม จึงได้มีการหารือเรื่องการค้าและโอกาสการส่งออกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบว่าแม้สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับยอดขายในประเทศ แต่ยอดส่งออกไปต่างประเทศของข้าวกล้องอินทรีย์และข้าวโพดราชินีทับทิมกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น

จึงได้ใช้โอกาสนี้ แนะนำประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้

กรมฯ ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลและการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและใช้ประโยชน์จาก FTA จึงได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ

โดยในปีนี้ได้ลงพื้นที่ในภาคอีสานตอนล่าง (บุรีรัมย์) และภาคกลางตอนล่าง (เพชรบุรี) แล้ว และมีแผนที่จะลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจากการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพและปลอดภัยจากโควิด จึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรไทย ที่จะพัฒนาสินค้าให้สนองความต้องการตลาด

ประกอบกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ได้ช่วยสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยจากการที่ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทยแล้ว ทำให้สินค้าไทยได้แต้มต่อเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2563 ไทยขยับเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร (พิกัด 01-24 รวมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา) อันดับที่ 9 ของโลก จากที่อยู่อันดับ 11 ในปี 2562 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไป 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปีนี้ มูลค่า 13,117 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 66.92% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก