แห่ตั้งโรงไฟฟ้าเวียดนาม รับดีมานด์พุ่ง-ลงทุนง่าย

เอกชนไทยแห่ลงทุนโรงไฟฟ้าเวียดนามนับ 10 โครงการ บี.กริม-กัลฟ์ จ่อลงทุนโรงไฟฟ้า LNG ร่วม 1 หมื่นเมกะวัตต์ ด้าน “นักวิชาการ” ชี้ “เวียดนาม”ปัจจัยบวกเพียบทั้งดีมานด์การใช้เพิ่มจีดีพีโต รัฐบาลกระตุ้นลงทุน แต่เงื่อนไขการลงทุนยังไม่ “ประกันการรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ” ส่วนไทยจีดีพีติดลบ ดีมานด์หด กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินล้น 40% ขอใบอนุญาตยาก เตรียมปฏิรูประบบขอใบอนุญาตง่ายต่อธุรกิจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยหลายรายที่ประกาศขยายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม อาทิ บี.กริม พาวเวอร์, กัลฟ์, ซุปเปอร์, ราชกรุ๊ป นับรวม 10 โครงการ (กราฟิก) แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่การลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในเวียดนามยังคึกคัก

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บี.กริม เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เวียดนาม 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเร็ว ๆ นี้จะทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จาก LNG ขนาด 3,000 เมกะวัตต์ ใกล้โฮจิมินห์

“ตอนนี้กำลังศึกษาร่วมกับโลคอลพาร์ตเนอร์เจ้าใหญ่ คาดว่าถ้าไม่โชคร้ายในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะเซ็นสัญญาได้ โดยสามารถเข้าถือหุ้นได้มากถึง 70%”

แม้เวียดนามประสบปัญหาเรื่องโควิดมีผู้ติดเชื้อประมาณ 300 คน แต่จีดีพียังขยายตัว 4-5% จากเดิมที่วางไว้ 6-7%ต้องยอมรับว่าการขยายตัวอุตสาหกรรมในเวียดนามพุ่งแรงมาก และพื้นที่ทางภาคใต้ยังมีปัญหาไฟฟ้าขาด ส่วนภาคเหนือยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

“จากประสบการณ์การลงทุนที่เวียดนาม รู้สึกว่ารัฐบาลเวียดนามมีความพยายามในการดึงดูดการลงทุนมากกว่าใคร จำนวนประชากรก็มีถึง 90 ล้านคน รองจากอินโดนีเซียที่มี 100 ล้านคน ส่วนไทยมีประมาณ 60-70 ล้านคนก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการลงทุน แต่เหตุผลสำคัญที่สนใจเวียดนาม เพราะเรื่องความยากง่ายในการลงทุน ไม่ซับซ้อน สถานการณ์การเมืองที่นิ่งก็มีส่วนด้วย”

อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสจากการที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในการดึงดูดการลงทุน เพราะสะท้อนถึงความพร้อมด้านสาธารณสุขของไทย

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการขยายการลงทุนเข้าไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราการขยายตัวสูงจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปขยายการลงทุนผลิต ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ารัฐบาลเวียดนามยิ่งต้องสนับสนุนการลงทุนให้ง่าย เพื่อจะได้มีไฟฟ้าเพียงพอใช้ ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียง 2-3% ในช่วงที่ผ่านมา และยิ่งประสบปัญหาโควิด-19 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะติดลบ 8-9% ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ประกอบกับปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากถึง 40% ยิ่งทำให้เกิดไฟฟ้าล้น และการขออนุญาตยังมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน

“เวียดนามไม่ได้มีนโยบายอะไรที่ดีกว่าไทย แต่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่า เพราะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนจำนวนมากซึ่งหากเปรียบเทียบนโยบายและระบบการรับซื้อไฟฟ้าของสองประเทศ พบว่าไม่มีอะไรที่ต่างกัน และบางเรื่องเวียดนามก็ยังไม่มี เช่น เรื่องการประกันความเสี่ยงการรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจากผู้ผลิต ทางเวียดนามยังไม่มี แต่ไทยมีเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาซื้อไฟฟ้า 20-25 ปี แต่ไม่มีการประกันการรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำนั่นทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าในไทยมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะไทยมีระบบสัญญาที่เรียกว่า must take must run ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ผลิตก็ได้รับผลตอบแทนจากการผลิต”

อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเดิมต้องขออนุญาตทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน

ล่าสุดคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพลังงานกำลังเสนอแผนปฏิรูปเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตให้เป็นรูปแบบ onestop service แค่มายื่นที่ กกพ.จุดเดียวไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 คาดว่าอย่างช้าระบบนี้น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ต้นปีหน้า ส่วนการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ไม่เกี่ยวกับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการขยายการลงทุนไปเวียดนาม จากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่องหลายปี และยิ่งประสบปัญหาโควิด-19 ยิ่งชะลอตัวมากขึ้นอีกทั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยยังสูง และการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึง 3 คน ในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เช่น การแก้ไขแผน PDP ยังค้างไม่ผ่านคณะรัฐมนตรีมาเป็นระยะเวลานานแล้ว


“ตอนนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายขยายการลงทุนไปต่างประเทศ บี.กริม ถือว่าโดดเด่นมากที่สุดที่ไปเวียดนาม และยังได้ขยายไปอีกหลายประเทศทั้งกัมพูชาและมาเลเซียด้วย จากนี้ก็จะเห็นการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าหากเปรียบเทียบระบบการรับซื้อพลังงานไทยจะดีกว่า มีความมั่นคงในการรับซื้อซึ่งดีกับผู้ผลิตมากกว่า แต่เมืองไทยไม่มีรูมแล้ว และขาดความต่อเนื่องนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีหลายคน”