ปิดฉาก AMAF ตั้งบอร์ดประมงแก้ไอยูยู

ผ่านพ้นไปสำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 “AMAF” และ AMAF+3 จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพต่อจากสิงคโปร์ ปีนี้ย้ำชัดว่า ภูมิภาคอาเซียนจะต้องเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร ดึงดูดนักลงทุน ควบคู่ไปกับความมั่นคงทางอาหาร

คู่มือเกษตรอินทรีย์ ฉบับแรก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคการเกษตรนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากของภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่สิ่งที่ท้าทายคือการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปี 2568 จะต้องยกระดับไปสู่ความมั่นคง จำเป็นต้องวางกรอบยุทธศาสตร์ร่วมมือกันระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพ แข่งขันได้

ปีนี้ที่ประชุมได้กำหนด “มาตรการด้านสุขอนามัยพืช” ให้เป็นแนวทางเดียวกันในอาเซียนมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเห็นชอบมาตรฐานพืชสวนอาเซียนเพิ่มเติมอีก 4 ชนิด คือ ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วแขก เห็ดหูหนู และมันเทศ จากในปัจจุบันดำเนินการแล้ว 51 รายการ การกำหนดค่าสารพิษตกค้างสูงสุดของอาเซียนเพิ่มเติม 7 ชนิด รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ จะเป็นกลไกในการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานสินค้าอาเซียน เช่น การใช้เครื่องมือการประเมินการดำเนินการผลิตทางการเกษตรหรือ ASEAN GAP จัดทำ “คู่มือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน” ที่ประเทศสมาชิกจะได้ยึดเป็นแนวทางเดียวกัน และการกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดศัตรูพืชของอาเซียน

ไทยดันตั้งบอร์ดประมงอาเซียน

ขณะเดียวกันไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายประมงอาเซียนต่อเนื่อง จากที่เคยเสนอไว้ในการประชุมเมื่อปี 2559 ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น โดยมีการผลักดันให้ตั้ง “คณะทำงานด้านประมงอาเซียน” คณะพิเศษขึ้นมาเป็นกลไกในการทำงาน ปีนี้ไทยจะศึกษากรอบแนวทางหลักเกณฑ์ โดยเน้นย้ำการทำประมงอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะจำนวนเรือที่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ การทำใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การตรวจสอบย้อนกลับอย่างถูกต้อง ตลอดจนการแปรรูปสัตว์น้ำทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค โดยคาดหวังจะแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) ได้ในต้นปี 2561

สำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน +3

สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรืออาเซียน +3ปีนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานร่วมกันตามความตกลงของ “การสำรองข้าวฉุกเฉิน” และสนับสนุนการระบายข้าวแบบให้เปล่า โดยประเทศสมาชิกจะบริจาคเป็นข้าวสารหรือเงินสดภายใต้การทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า

นายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฐานะเลขาธิการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า APTERR เป็นความร่วมมือในการสำรองข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในยามฉุกเฉิน แม้ภูมิภาคนี้มีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตมองถึงความยั่งยืนระยะยาวในกลุ่ม 13 ประเทศ