สนพ.คาดดีมานด์พลังงานปี 63 ดิ่ง 7.9% ไฟล้นเกินโควตา 40%

เสาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชน
Photo : pixabay

สนพ. เผยแนวโน้มใช้พลังงานทั้งปีลดวูบ 7.9% จากกรณีเลวร้ายที่สุด ชี้การใช้ไฟฟ้าลดลง ส่งผลสำรองเหลือเกินโควตากว่า 40% โยน กฟผ.เจรจาเอกชนหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า-หาช่องทางขายเพื่อนบ้าน พร้อมเตรียมงานชงรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ สานต่อโครงการที่เหลือ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 จะลดลง 7.9% จากปี 2562 อยู่ที่ 2.72 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและเศรษฐกิจของประเทศเลวร้ายสุด ซึ่งหลายหน่วยงานประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ติดลบ 10% ถึง 9% เนื่องจากผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะยืดเยื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังผันผวนมากกว่าระดับปกติ

โดยคาดว่าการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท แบ่งเป็นการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 6.3% ดีเซลลดลง 4% เครื่องบินลดลง 43.5% ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 10.9% น้ำมันเตาลดลง 10% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3% ขณะที่ภาพรวมการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย. 2563) ลดลง 10% อยู่ที่ 2.49 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 7.1% ดีเซลลดลง 4.3% น้ำมันเครื่องบินลดลง 48.6% น้ำมันเตาลดลง 21.2% แอลพีจีลดลง 11.6% ถ่านหินลดลง 0.3% ก๊าซธรรมชาติลดลง 8.5% และไฟฟ้าลดลง 3.9%

สำหรับการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ส่งผลให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น 30-40% จากอัตรากำลังการผลิตรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 50,300 เมกะวัตต์ จากสัดส่วนการสำรองไฟที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศควรอยู่ที่ 15-18% ดังนั้นเพื่อไม่ให้ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชนในประเทศ จึงได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพัฒนาสายส่งพร้อมทั้งเจรจาขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับเจรจาให้ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนบางรายหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ รวมถึงให้เลื่อนการผลิตไฟเข้าสู่ระบบออกไปด้วย

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า ในวันที่ 13 ส.ค. นี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่จะเริ่มเข้าทำงานที่กระทรวงพลังงานเป็นวันแรก โดย สนพ.จะต้องมีการเตรียมแผนงานเพื่อนำเสนอต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ต้องมีการสานต่อ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านแผนพีดีพี ฉบับใหม่ รวมถึงแนวทางการเปิดเสรีแก๊ส ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และการเปิดเสรีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) รวมถึงการปรับพื้นฐานโครงสร้างแก๊สใหม่

“ในส่วนของแผนเยียวยาประชาชนที่ไดรับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ที่ใกล้จะหมดเวลาในช่วงเดือน ส.ค.นี้แล้วนั้น ก็ต้องมีการหารือกับรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างไร ซึ่ง ปัจจุบันมาตรการด้านไฟฟ้านั้นหมดเวลาไปหมดแล้ว เหลือแต่การสนับสนุนดีมานด์ชาร์จ ที่ยกเลิกแบบเหมาจ่ายไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่การอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ตอนนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับภาระ ซึ่งสะสมรวมกว่าแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งการหารือกับกรมการขนส่งทางบกเบื้องต้นเพื่อที่จะปรับโครงสร้างราคา แต่ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นต้องคุยกันใหม่อีกครั้ง” นายวัฒนพงษ์กล่าว