ดวงกมล เจียมบุตร GIT ดันไทยสู่ “ฮับอัญมณีโลก”

สัมภาษณ์

ที่ผ่านมา รัฐบาลวางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก (Thailand : The World”s Jewelry Hub) โดยกำหนดมาตรการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบทั้งในประเทศ ต่างประเทศ การยกระดับฝีมือแรงงานและอุตสาหกรรม การลดและยกเว้นอาการศุลกากรอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนการออกมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าไทย สำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ (Hallmarking) ขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดวงกมล เจียมบุตร” ผู้อำนวยการ GIT ถึงบทบาทของสถาบันในการส่งเสริมความเป็นฮับอัญมณีของไทย

Q : ที่มาการออกฮอลมาร์ก

การรับรองโลหะมีค่า ภายใต้เครื่องหมาย Hallmarking มี 3 ตรา คือ ตรา GIT ตราผู้ผลิต และตราความบริสุทธิ์ของโลหะ เช่น 18 เค 21 เค หรือ 23 เค เป็นต้น โดยช่วงแรกขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ส่งออกก่อน แต่รายใดยังไม่พร้อมไม่ต้องมาตรวจ เพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบ การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ โดยเฉพาะผู้ผลิตทองคำโบราณ อย่างทองสุโขทัย ที่ต้องการสร้างมาตรฐานให้ผู้ซื้อมั่นใจ สามารถส่งมาตรวจสอบที่ GIT ได้ ส่วนผู้จำหน่ายในประเทศอาจยึดตามหลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีกระบวนการสุ่มตรวจสอบอยู่ เมื่อสุ่มแล้วมาให้ GIT ตรวจสอบรายชิ้น ต่อไปหากมีผู้มาใช้บริการตรวจกับ GIT จะช่วยลดขั้นตอนไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ

Q : อัตราค่าตรวจสอบสูงหรือไม่

อัตราค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกำลังเสนอบอร์ด GIT ไป 2 วิธี คือ วิธีตอกลงไป หรือใช้เลเซอร์ ค่าใช้จ่ายรับรองว่า ไม่แพงจนเอกชนรับไม่ได้แน่นอน เพราะมีการประชุมร่วมกับเอกชนทำความเข้าใจกันถึงเรื่องราคาแล้ว คงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยเหรียญต่อชิ้น เทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยจะใช้วิธีสุ่มตรวจสอบตัวอย่าง เช่น สุ่มประมาณ 100 ชิ้นจาก 10,000 ชิ้น ถ้าผ่านก็ประทับตราให้ทุกอันครบทั้งหมด

Q : ออกใบรับรองวันละเท่าไร

ขณะนี้มีเครื่องตรวจสอบ และเครื่องปั๊มตราฮอลมาร์กอยู่แล้ว มีกำลังผลิตที่สามารถรับได้ประมาณ 2,000 ชิ้นต่อวัน แต่หากมีผู้มายื่นขอตรวจสอบมากขึ้น ทางสถาบันเตรียมจะลงทุนติดตั้งเครื่องปั๊มตราเพิ่ม แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มประกาศฮอลมาร์ก และมีหน่วยที่ออกใบรับรองสำหรับโลหะมีค่าอยู่แล้ว เป็นการออกใบรับรองออกให้สำหรับที่มาตรวจสอบทุกชิ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

Q : แนวทางการสร้างการรับรู้

ขณะนี้เตรียมทำประชาสัมพันธ์ไปยังตลาดนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยล่าสุดได้มีการลงนาม MOU กับหน่วยงานกลางที่ดูแลด้านอัญมณีของดูไบ เพื่อขอให้เพิ่มรายละเอียดให้การรับรองเครื่องหมายฮอลมาร์กของไทย เสนอเรื่องไปแล้ว หากหน่วยงานดังกล่าวยอมรับ จะทำให้สินค้าโลหะมีค่าจากไทยสามารถส่งเข้าไปดูไบได้ โดยไม่ต้องไปตรวจรับรองอีก นอกจากนี้ มีการประชาสัมพันธ์ในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ฮ่องกง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 กันยายนที่ผ่านมา

ในส่วนตลาดนำเข้า เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เป็นตลาดที่มีตราฮอลมาร์กของแต่ละประเทศ โดยปกติการส่งออกทองคำไปยังตลาดกลุ่มนี้จะต้องได้รับตราฮอลมาร์กที่รับรองในประเทศเหล่านั้น ขณะนี้ไทยเริ่มสร้างมาตรฐานเอง ขั้นต่อไปต้องพยายามให้ประเทศเหล่านี้รับรองให้ได้ เพื่อไม่ต้องไปผ่านการตรวจสอบซ้ำอีกที โดยสถาบันเตรียมแผนจะหารือกับประเทศคู่ค้า เพื่อให้ข้อมูลว่าขณะนี้ไทยเริ่มมีการจัดทำเครื่องหมายรับรองแล้ว แต่ยังเป็นลักษณะที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

Q : แผนผลักดันฮับอัญมณีปีนี้

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม World Jewelry Confederation หรือ CIBJO Congress 2017 ในวันที่ 2 -7 พฤศจิกายน 2560 เป็นงานประชุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับวงการอัญมณีและเครื่องประดับโลก จัดโดยองค์กร CIBJO หรือ The World Jewelry Confederation ซึ่งเป็นองค์กรสากล ที่สหประชาชาติมอบให้ดูแลด้านอัญมณีและเครื่องประดับของโลกในการช่วยกำหนดมาตรฐานหรือการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในด้านมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนระเบียบทางการค้าของโลกมานานกว่า 90 ปี มีสมาชิกทั่วโลก 42 ประเทศ ซึ่งทาง GIT เป็นหนึ่งในสมาชิก CIBJO ด้วย

Q : ประโยชน์ของ CIBJOCongress 2017

การประชุมนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐาน และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความพร้อมของไทยสู่การเป็นฮับอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ทั้งยังเป็นเวทีพบปะของนักลงทุนจากนานาชาติ คาดว่าจะมีผู้มาร่วมประชุม 350 คน ทั้งนักลงทุน ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าในทุกด้าน

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีประชุม World Ruby Forum ขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ซึ่ง GIT ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบันอัญมณีศาสตร์เอเชีย และ The Association of Gemmology for France (AFG) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทับทิม จุดแข็งในอุตสาหกรรม ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญสู่ฮับอัญมณีด้วย