เปิด 4 พื้นที่ ถมทะเล-บนบก รับทุน “เอ็กซอนโมบิล”

บริษัท เอ็กซอนโมบิล
ERIC PIERMONT / AFP

ความคืบหน้าโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีส่วนต่อขยาย มูลค่า 300,000 ล้านบาทของบริษัท เอ็กซอนโมบิล ที่ต้องการพื้นที่ 1,000 ไร่ ใน ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชาจ.ชลบุรี อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ผ่านมาเกือบ 1 ปีครึ่งหลังจากที่ นายแจ็ก พี. วิลเลียมส์รองประธานอาวุโส บริษัท เอ็กซอนโมบิล เข้าหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อเดือนมกราคม 2561 เพื่อแสดงเจตนารมณ์จะลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นส่วนต่อขยายจากโรงงานเดิม ด้วยงบประมาณที่คาดว่าจะมีสูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยขอให้รัฐบาลจัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ และวางกรอบว่าจะต้องได้ข้อสรุปภายในกลางปี 2561แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีส่วนต่อขยาย มูลค่า 300,000 ล้านบาทของบริษัท เอ็กซอนโมบิล ที่ต้องการพื้นที่ 1,000 ไร่ ใน ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชาจ.ชลบุรี อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ทำผลการศึกษาความเป็นไปได้มาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งขณะนี้ทางสถาบันปิโตรเลียม ได้เปิดผลการศึกษา ระบุว่าพื้นที่เหมาะสมมีทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งเป็นที่ต้องถมทะเล และอีก 2 แห่งเป็นพื้นที่บนบก

ทั้งนี้ มีการพิจารณาในเบื้องต้นว่า พื้นที่ที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุดคือ 1.พื้นที่บนบกติดกับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 1,200 ไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีผู้เช่าพื้นที่อยู่ 7 ราย รวม 14 แปลง ใช้เป็นคลังสินค้าลานจอดรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อการส่งออก และอู่ต่อเรือ โดยมีสัญญาเช่าอยู่ 15 ปี ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปเจรจากับเอกชนก่อนว่าจะใช้วิธีใดในการเคลียร์พื้นที่ที่ติดสัญญาเช่านี้

และ 2.พื้นที่บนบกติดกับเขาภูไบ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 5,000 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนกระจายตัวและแทรกตัวอยู่ระหว่างโรงกลั่นน้ำมันคลังน้ำมัน คลังก๊าซ ซึ่งมีความเหมาะสมใช้ได้เพียง 1,200 ไร่ เพราะบางส่วนติดชุมชนป่าชายเลน และติดเขา โดยทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่ง กนอ.เตรียมเสนอให้บอร์ดพิจารณา เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด

ส่วนอีก 2 พื้นที่ที่เหลือคือ พื้นที่ถมทะเลบริเวณเขาบ่อยา และเขาภูไบด้านทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยกำหนดในเบื้องต้นให้มีพื้นที่เป้าหมายในการถมทะเลประมาณ 2,534 ไร่ ซึ่งระยะที่ 1 มีพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็นพื้นที่เช่า 1,500 ไร่ระยะที่ 2 มีพื้นที่ 2,534 ไร่ เป็นพื้นที่เช่า 2,250 ไร่ และพื้นที่สุดท้ายเป็นพื้นที่ก่อสร้างแหล่งเก็บตะกอน อยู่ภายใต้โครงการก่อสร้างขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 มีเนื้อที่ประมาณ 1,875 ไร่ และผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว มีพื้นที่เช่าประมาณ 1,675 ไร่ โดยทั้ง 2 พื้นที่นี้จะเป็นการถมทะเล แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะพัฒนาให้กับโครงการของเอ็กซอนฯ เนื่องจากการถมทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าบนบก และยังมีท่อน้ำมันที่อยู่ใต้ทะเลยากต่อการถมทะเล

“สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกบวกกับการระบาดของเชื้อโควิด-19ทำให้ทางเอ็กซอนฯประกาศเลื่อนแผนการลงทุนออกไปก่อน และแม้ว่าเอ็กซอนฯจะยังไม่ระบุถึงความพร้อมในเรื่องการลงทุนว่าจะเกิดขึ้นในปีใด แต่เราก็ต้องพัฒนาพื้นที่นี้รอเอาไว้ ซึ่งจะเป็นการรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ไปด้วย”