นิคมอุตฯหงอย โควิดทุบน่วม จี้ปลดล็อก ดึงนักลงทุนเข้าประเทศ

นิคมอุตสาหกรรม
แฟ้มภาพนิคมอุตสาหกรรม

นิคมอุตสาหกรรมครึ่งปีหลังยังซึม “กนอ.” อัดโปรฯยาวถึงปี”64 ลุ้นเป้ายอดขายที่ดิน 3,000 ไร่ ด้าน WHA วอนรัฐเปิดทางนักธุรกิจเข้าประเทศ ใช้ศูนย์ EEC เป็น one stop service พ่วงเจรจาธุรกิจ “โรจนะ” ขอปรับสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนเพิ่ม ส.อ.ท.-หอการค้า มั่นใจจีน-ญี่ปุ่นไม่ทิ้งไทย เตรียมปักหมุดย้ายฐานลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพ-อาหาร-อิเล็กทรอนิกส์ ดันไทยฮับโลก แนะรัฐบาลชูจุดแข็ง คุมโควิดชะงัก-แรงงานมีคุณภาพ ดูดนักลงทุน

ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การลงทุนของไทยในครึ่งปีแรกในเชิงมูลค่าหดตัว 17% แม้จะมีจำนวนโครงการมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 7% แต่ก็อยู่ในภาวะที่เหนื่อยหนัก แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังยังน่าห่วง เพราะไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ยังกระทบธุรกิจและการลงทุน จากการที่นักลงทุนยังไม่สามารถเดินทางมาทำธุรกิจได้ ซึ่งในโอกาสที่จะมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.ระยองในระหว่าง 24-25 สิงหาคมนี้ ถือว่าเป็นการราวนด์อัพภาพรวมทิศทางการลงทุนครึ่งปีหลัง และเป็นการเตรียมมาตรการกระตุ้นการลงทุนของ ครม.ประยุทธ์ 2/2

โควิดทำภาพรวมนิคมไม่คึกคัก

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมครึ่งปีหลังการลงทุนอาจยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แต่ละนิคมอุตสาหกรรมยอดขายชะลอตัว รวมทั้งมีนิคม 2 แห่งต้องล้มโครงการลง คือ นิคมหนองคาย และนิคมอัญธานี ส่วนนิคมของเอกชนที่เหลืออื่น ๆ จำเป็นต้องกระตุ้นยอดขายให้กลับมาเหมือนเดิม ด้วยการใช้โปรโมชั่นมาเป็นตัวช่วย โดยมีเวลาอีกเพียง 2 เดือน (ตามปีงบประมาณ ก.ย.และ ต.ค. 2563) ที่จะเร่งให้ได้ยอดขายตามเป้าที่ตั้งไว้ 3,000 ไร่ ขณะที่ 9 เดือน (ต.ค. 2562-มิ.ย. 2563) มียอดขาย/เช่า 1,838.96 ไร่ เพิ่มขึ้น 1.49%

“ช่วงต้นปีมีการอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ 5 แห่ง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องมือแพทย์ ในนิคม 2 ที่ EEC ทำให้มียอดขายเพิ่มและมีการจ้างงาน 14,698 คน บวกกับตอนนี้นักลงทุนจีนสนใจและกำลังจะทยอยเข้ามามาก ก็หวังว่าครึ่งปีหลังที่ดินจะขายได้เพิ่มอีก เพราะยังมีนิคมเอเชียคลีน และนิคมโรจนะ ที่จะเปิดรองรับการลงทุนเร็ว ๆ นี้ ส่วนการที่จะเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามา รัฐยังห่วงการระบาดรอบ 2 ตอนนี้จึงประคับประคองใช้ส่วนลดช่วย นิคม เอกชนก็เช่นกันมีการลดค่าที่”

ผู้ว่าการการนิคมฯระบุว่า ทั้งนี้ 5 อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสและเติบโตโดดเด่น คือ อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ ยาง/พลาสติก เครื่องยนต์/เครื่องจักร/อะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ โดยสัดส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมากที่สุด 26.4% จีน 16.9% ไต้หวัน 9.4% ออสเตรเลียและฮ่องกง 5.6% สำหรับแนวโน้มนักลงทุนจีนทยอยเข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น โดยกลุ่มอมตะได้รับอานิสงส์และมีพื้นที่รองรับนักลงทุนจีนอยู่แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์การลงทุนที่ไม่คึกคัก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 1/63 โดยหลายรายมีรายได้และผลกำไรลดลง เช่น กลุ่ม WHA มีรายได้ 1,277 ล้านบาท ลดลง 66.4% กำไร 99.3 ล้านบาท ลดลง 75.65% ขณะที่กลุ่มสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ขาดทุน 807.7 ล้านบาท กลุ่มอมตะ มีรายได้ 1,251.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% กำไร 222.5 ล้านบาท ลดลง 19.5%

จี้รัฐคลายล็อกนักลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าว่าปีนี้จะขายที่ดินในนิคมทั้งในประเทศและเวียดนามรวม 1,400 ไร่ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะมีการประเมินสถานการณ์ และพิจารณาว่าจะคงยอดขายไว้เท่าเดิมหรือปรับเป้าใหม่เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งทำให้การเข้ามาดูพื้นที่นิคมไม่สามารถทำได้ แต่บริษัทยังมีการติดต่อลูกค้าผ่านทางอีเมล์และวีแชต ซึ่งพบว่านักลงทุนจีนยังสนใจและต้องการจะเข้ามาลงทุนในไทยเช่นเดิม ทั้งจากที่ย้ายฐานการผลิตและกลุ่มลูกค้าที่ได้เคยเจรจากันไว้

“สิ่งที่จะขอให้ภาครัฐเร่งช่วย คือ ควรใช้พื้นที่สำนักงาน EEC ที่ใน 3 จังหวัด เป็น one stop service หาที่พักให้เขา ให้เขาติดต่อคุยที่ EEC เพราะที่ตรงนี้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้ว เขาก็สามารถเจรจาธุรกิจได้เลย เสร็จแล้วนักลงทุนกลุ่มนี้เขาก็บินกลับ ตอนนี้เรารอว่ารัฐจะเปิดประเทศเมื่อไร นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพกำลังได้รับความสนใจ รัฐควรมาดูเรื่องสิทธิประโยชน์พวกนี้เพิ่ม”

ขณะที่นางสาวพิมณัฐฐา คงเกรียงไกร ผู้ช่วยรองประธาน บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันนักลงทุนจีนยังสนใจประเทศไทยอยู่ แต่เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ และเลื่อนกำหนดไปก่อน นอกจากนี้ไทยยังต้องแข่งกับเวียดนาม ฉะนั้นการส่งเสริมต่าง ๆ และความมั่นคงของรัฐบาลมีความสำคัญมาก สำหรับโรจนะเองก็พยายามทำการตลาดและโปรโมตผ่านหลาย ๆ ช่องทาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก สิ่งพิมพ์ และกิจการที่ส่งไปประเทศอเมริกาที่โดน antidumping จากสหรัฐอเมริกา ที่จะเป็นโอกาสของไทยในขณะนี้

“ต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การอนุญาตให้นักลงทุนที่เข้ามาสำรวจงานได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น อนุญาตให้นักลงทุนที่ได้หนังสือเชิญจากบริษัทโรจนะฯ สามารถขอวีซ่าธุรกิจเพื่อมาสำรวจงานและเข้าประเทศไทยได้สะดวกขึ้น, การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ได้

สำหรับนักลงทุนที่อยากจะส่งออกไปอเมริกา ต้องได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน, การปรับปรุงเรื่องเวลาการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานที่ให้บริการชาวต่างชาติ เช่น BOI, OSOS เป็นต้น เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับนักลงทุน เป็นต้น”

มั่นใจ “จีน-ญี่ปุ่น” เพิ่มการลงทุน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มั่นใจว่านักลงทุนจีนจะตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มสิ่งที่เอกชนต้องทำ คือ การเตรียมพื้นที่รองรับ และการอำนวยความสะดวกให้พร้อม

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการต่างชาติมีแผนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยหลังโควิด-19 โดยจะเริ่มทยอยเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง 2563 อาทิ ผู้ประกอบการถุงมือยางจากจีน ซึ่งนักลงทุนจีนมองว่าไทยมีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ ขณะที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์จากญี่ปุ่น มองว่าไทยมีความน่าเชื่อถือ

ประกอบกับผลกระทบจากโควิด-19 สินค้าเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมไทยที่มีโอกาสสูง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ด้าน IT เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสก์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์

“ไทยสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ดี และแรงงานมีคุณภาพ มีความรู้ มีฝีมือ มีทักษะในการผลิต ผู้ประกอบการต่างชาติจึงมีแผนขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่ม ดังนั้น รัฐบาลไทยควรใช้จังหวะนี้ ใช้โอกาสจากโรคระบาดผลักดัน ส่งเสริมสนับสนุนและเน้นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์เพิ่ม และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพของโลก ขณะเดียวกัน ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป”