มาเลย์-เวียดนามดัมพ์เหล็ก ยอดขาย “ทาทาสตีล” ไตรมาส 1 หด

เหล็ก

“ทาทาฯ” วอนรัฐหนุนใช้เหล็กในประเทศ ก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 75% หลังโควิด-19 ฉุดดีมานด์เหล็กโลกหด 6.4% จับตา “มาเลเซีย-เวียดนาม” ดัมพ์ตลาดเหล็กลวด

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH) เปิดเผยว่า ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เหล็กภายในประเทศผ่านการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพราะผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ความต้องการการใช้เหล็กโลก โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัว

จากการรายงานสมาคมเหล็กโลก พบว่า ความต้องการเหล็กในปี 2563 จะลดลง 6.4% ปริมาณ 1,654 ล้านตัน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนปริมาณ 1,766 ล้านตัน และจะฟื้นตัวในปี 2564 คาดว่าความต้องการเหล็กโลกจะเพิ่มขึ้น 3.8% ปริมาณ 1,717 ล้านตัน

สำหรับปริมาณความต้องการนำเข้าเหล็กในหลายประเทศปรับตัวลดลงจากปัญหาของโควิด-19 กระทบหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ เครื่องจักรกล เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายระวังมากขึ้นมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ยังมีความต้องการใช้เหล็ก เช่น จีน เนื่องจากควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี รัฐบาลจีนเร่งส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างต่าง ๆ ทำให้มีความต้องการเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น 18% ปริมาณ 33 ล้านตัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ดังนั้น ปีนี้จีนจะส่งออกเหล็กน้อยลง

“ความต้องการเหล็กในอาเซียน 6 ประเทศ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 จะลดลง 2.1% ปริมาณ 79.3 ล้านตัน ส่วนปี 2564 เพิ่มขึ้น 5% ปริมาณ 83.2% โดยเวียดนามเป็นประเทศที่ต้องการใช้เหล็กเพิ่มจากการส่งเสริมการลงทุน ส่วนไทยปีนี้ลดลง 7% ปริมาณ 16 ล้านตัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยโควิด-19 ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้เหล็กในประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล็กของไทย โดยการลงทุนทั้งโครงการใหญ่ โครงการขนาดเล็ก รวมถึงการซ่อมบำรุงของในแต่ละหน่วยงานก็จะทำให้เกิดความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น หากจะอยู่ได้ต้องมีการใช้เหล็กในประเทศสัดส่วน 75% จากปัจจุบันที่ใช้ 40%”

นายราจีฟกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทยังคงมั่นใจว่าจะมียอดขายใกล้เคียงกับปีก่อน ปริมาณ 1.21 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการเหล็กที่มีมูลค่า เช่น เหล็กต้านแผ่นดินไหว เหล็กเส้นแรงดึงสูง เหล็กเส้นขึ้นรูปตัดและดัด ยังเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการและมีการเติบโตสูง

สำหรับปริมาณการขายเหล็กในช่วงไตรมาส 1 (ปีงบประมาณอินเดีย) มีปริมาณ 298,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 299,000 ตัน และมีรายได้รวม 4,592 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 5,420 ล้านบาท

“แม้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง แต่บริษัทยังคงรักษากำลังการผลิตทั้ง 3 โรงงานได้ และมองว่าแนวโน้มจากนี้ความต้องการใช้เหล็กจะเพิ่มขึ้นจากหลายโครงการภาครัฐ ทั้งรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างสะพาน โครงการซ่อมบำรุงของหน่วยงานทั่วประเทศที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยที่บริษัทสามารถปรับลดต้นทุนจากความพร้อมในเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบ จึงทำให้เชื่อว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้จะยังเติบโต”

นายวันเลิศ การวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังติดตามสถานการณ์การส่งออกเหล็กของเวียดนามและมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะการส่งออกเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ และเหล็กลวดคาร์บอนสูง หากมีแนวโน้มทุ่มตลาดก็พร้อมที่จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กของจีน เวียดนาม และไต้หวัน ต่อไปอีก 5 ปี