ประวิตร ห่วงอีสานแล้ง กำชับแผนเก็บน้ำฤดูฝน

ประวิตร กำชับแผนรับน้ำฤดูฝน เตรียมพื้นที่รับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา พร้อมกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด ห่วงอิสานแล้งซ้ำซาก น้ำยังน้อยทุกปี สทนช. ดันแผนขุดคลองใหม่ ชัยนาท-ป่าสัก , ป่าสัก-อ่าวไทย ยาว 124 กิโลเมตร งบ 1 แสนล้าน แก้ปัญหาน้ำเหนือหลากท่วมลุ่มเจ้าพระยา ชี้ถูกกว่าฟลัดเวย์

วันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุม เสวนา “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่” ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน ภายใต้การดำเนินงานของ กอนช.ที่มีแผนรับมือกับสถานการณ์ฝนในปีนี้ ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบ 8 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 2.การปรับแผนการเพาะปลูกพืช 3.การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4.การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร 5.การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.การสำรวจแม่น้ำคูคลองและดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ และ 8.สร้างการรับรู้กับประชาชน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวล่วงหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขยะมูลฝอย และผักตบชวา ที่สามารถกำจัดได้แล้วกว่า 500,000 ตัน ในบริเวณต่าง ๆ 143 แห่ง รวมไปถึงการเตรียมพื้นที่รับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา และการวางแผนกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด

“ลุ่มน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศที่จะต้องดูแล ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนจะต้องช่วยกันดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลดการเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดภัยแล้ง โดยการทำแก้มลิงใต้ดินเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในปี 2564 ส่วนภาพรวมปีนี้ ภาคที่น่าเป็นห่วงว่าจะประสบภัยแล้งมากที่สุดคือภาคอีสาน ซึ่งปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ที่หลายจังหวัดยังประสบกับภัยแล้งทุกปี รวมไปถึงภาคเหนือบางจังหวัดอีกด้วย ดังนั้นจึงให้สทนช.เร่งรัดแผนกักเก็บน้ำควบคู่ฤดูฝนด้วย” พล.อ.ประวิตร กล่าว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า 40 หน่วยงานจาก 8 กระทรวง ได้เตรียมรับมือฝนปีนี้ รวมถึงรายงานความก้าวหน้าการสนับสนุนงบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้งและเตรียมการรองรับอุทกภัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 29,160 โครงการ วงเงินรวม 23,748 ล้านบาท โดยความร่วมมือจาก 15 หน่วยงานแล้ว นอกจากนี้ ตาม 9 แผนงาน ของแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทาง สทนช.ได้ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาเพื่อจัดเรียงลำดับการดำเนินการอีกครั้ง พบว่ามีโครงการที่น่าสนใจ คือโครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 คือโครงการตัดลำน้ำเข้าคลองชัยนาท –ป่าสัก และ ป่าสัก-อ่าวไทย วงเงินรวม ประมาณ 1 แสนล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าว จะเป็นการขุดคลองใหม่ รวมระยะทางประมาณ 124 กิโลเมตร จากจ.ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ และสมุทรปาการ ลักษณะเป็นคลองเปิด ซึ่งจะทำให้ผ่านที่ชุมชนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำฟลัดเวย์ และการทำวงแหวนตามข้อเสนอขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า )

อย่างไรก็ดี ตามแนวคลองที่บางส่วนต้องผ่านชุมชน จะขอซื้อ หรือจัดจ้าง แทนการเวนคืน หากไม่ยินยอมก็ต้องเจรจา คาดว่าจะใช้งบประมาณในกรณีซื้อที่ดินรวม 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นด้านเทคโนโลยี โดยการขุดคลองตามแนวขนาด กับคลองชัยนาท- ป่าสัก นั้นจะเริ่มดำเนินการในปี 2564 เป็นต้นไป ส่วนจากป่าสัก-อ่าวไทย กรมชลประทานอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากแล้วเสร็จ จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 9 ล้านไร่จากที่ปี 54 มีน้ำท่วมรวม 12 ล้านไร่ โดยจะมีพื้นที่น้ำท่วมลึก 1 เมตร 3 แสนไร่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งของลุ่มเจ้าพระยาได้ต่อไป