เหลือ 3 เดือน ลงนาม RCEP คว้าตลาด 3.6 พันล้านคน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างสมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน และพันธมิตร 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้ข้อสรุปไปแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน มีเพียง “อินเดีย” เป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่แจ้งความประสงค์ว่าจะไม่ขอเข้าร่วม

โดยขณะนี้สมาชิกอยู่ระหว่างขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายความตกลงคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งในการสัมมนาประชาพิจารณ์ “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีล RCEP” มีการแลกเปลี่ยนโอกาสการลงทุน หากRCEP สำเร็จ ไทยจะสามารถขยายตลาดจากอาเซียน 650 ล้านคน ไปสู่ตลาดที่มีประชากรถึง 3,600 ล้านคนได้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กล่าวว่า จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบความตกลง RCEP ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อลงนามความตกลง RCEP ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ RCEP ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จากนั้นจะเปิดข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ก่อนเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้สัตยาบันมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ข้อตกลง RCEP ครอบคลุม 20 ข้อบท ประกอบด้วย 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้าซึ่งจะมีการเปิดตลาดให้สินค้าบางรายการสำหรับสมาชิกต่างกัน 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า จะเน้นการสะสมแบบ bilateral communication

4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิคและกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ

9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน จะไม่มีการบังคับใช้เรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ (ISDS) 11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้มีการบังคับให้เป็นภาคี UPOV 1991 และ Budapest Treaty 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย

“การลงทุนจะไม่มีเรื่องการให้ความคุ้มครองนักลงทุนฟ้องรัฐในประเทศนั้น เพราะเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ทุกเรื่องย่อมมีทางออกเพื่อประโยชน์กับสมาชิกและนักลงทุนต่างชาติซึ่งโดยปกติต้องการให้มีการคุ้มครอง เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถฟ้องร้องรัฐประเทศนั้น ๆ ได้ ที่ผ่านมาข้อตกลงที่ไทยทำกับต่างประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ กว่า 40 ฉบับ มีเรื่องนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมความตกลง RCEP ไทยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ เพราะโดยสาระสำคัญของความตกลงสอดคล้องกับกฎหมายไทย อาจมีปรับแก้ไขกฎเกณฑ์บ้าง ทั้งนี้ภายหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว 3-5 ปี จะมีการทบทวนความตกลงอีกครั้ง

นางสาวพริ้วแพร ชุมรุม ผู้อำนวยการสำนักงานเจรจาการค้าบริการและการลงทุน กล่าวว่า การเปิดเสรีธุรกิจบริการ การลงทุนภายใต้ความตกลง RCEP ยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 12 กลุ่ม ตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ใน4 กลุ่มบริการหลัก เช่น การบริการข้ามพรมแดน เช่น การค้าออนไลน์ การบริการข้ามประเทศ เช่น การให้บริการศัลยกรรม การบริการจัดตั้งธุรกิจในประเทศ เช่น การตั้งธนาคาร และการบริการโดยบุคคลธรรมดา เป็นต้น

“ข้อตกลง RCEP ยังไม่ได้เปิดให้ลงทุนเสรี ถือหุ้นได้ 100% ทั้งหมด เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนายังมีความอ่อนไหวเรื่องความพร้อมในการแข่งขัน บางประเทศก็ต้องการดึงดูดการลงทุน เช่น ก่อสร้าง สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เปิดให้ถือหุ้นได้ 100% ธุรกิจจัดซื้อจัดจ้าง กัมพูชา ให้ถือหุ้นได้ 100%”

ในส่วนไทยไม่ได้เปิดเสรีให้ทั้งหมด แต่จะเปิดเฉพาะสาขาที่พร้อมแข่งขัน หรือในธุรกิจที่ต้องการนำมาพัฒนาประเทศ และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดรายการธุรกิจ กติกา เงื่อนไข หรือแม้กระทั่งการถือหุ้น กำหนดสัดส่วนคนไทยมากกว่าต่างชาติ หุ้นที่ถือ 49% หรือ 51% ตามที่มีเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

ส่วนประเภทธุรกิจที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถเข้ามาลงทุนได้เสรี นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% หรือปรับสัดส่วนการถือครองหุ้นตามกฎหมายที่กำหนด เช่น การลงทุนธุรกิจด้านการศึกษา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายไทยกำหนด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยไม่เปิดเสรีทั้งหมด แต่นักลงทุนอาจไม่ขอโดยผ่านความตกลง RCEP แต่อาจขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งมีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อยู่แล้วก็ได้

นายธีระทัศน์ รังสิวรโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เทรเซอร์ โปรดักส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างจะขยายตลาดเข้าไปใน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งการเข้าร่วมความตกลง RCEP จะช่วยให้การค้า การบริการสะดวกมากขึ้น

โดยต่อไปการค้าออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการค้าข้ามพรมแดน สิ่งที่เอกชนจำเป็นต้องคำนึงนั้นคือ เรื่องแบรนด์ โดยเฉพาะสินค้าเมดอินไทยแลนด์ได้รับการยอมรับจากตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก