ปตท. รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปตท.รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจปตท.รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปตท. ขานรับนโยบาย รมว.พลังงานคนใหม่ ลงทุนเพิ่มจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ จ่อลงทุน 2.6 หมื่นล้าน ครึ่งปีหลังวาง 3 กลยุทธ์ ลุยพลังงานหมุนเวียน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบนโยบายให้ ปตท.จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก ปตท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่จึงมีส่วนช่วยได้ อยากให้เข้ามาช่วยพลิกฟื้น โดย ปตท.จะเดินหน้าโครงการทั้งหมดให้กลับมาเต็ม 100% รวมถึงขยายการจ้างงานเพิ่ม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทในกลุ่มถึงการช่วยเหลือในด้านใดได้บ้าง ทั้งช่วยหาตลาดให้ชุมชนและวิสาหกิจชุมชนนำสินค้ามาขายในปั๊มน้ำมัน การทำแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ขายผ่านระบบออนไลน์

“เรื่องการจ้างงานเราจะดูอย่างโครงการก่อสร้างของเรา พวกงานช่าง ตรงไหนจะรับเข้ามาได้บ้าง จะดูในหลายมิติว่าจะมีงานที่เหมาะสมกับคนว่างงานอยู่ตอนนี้หรือไม่”

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบเงินลงทุนทั้งปี 2563 ตั้งไว้ 53,901 ล้านบาท ครึ่งปีแรกใช้ไปแล้ว 50% ยังเหลืออีก 50% หรือประมาณ 26,000-27,000 ล้าน จะมุ่งลงทุนตาม 3 กลยุทธ์หลัก คือ

1.ธุรกิจขึ้นต้น (reimagine upstream) ที่จะเน้นการขุดเจาะสำรวจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจไปสู่ LNG protfolio player ด้วยการขยายการทำตลาด LNG ในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่จะเติบโตในหลายปีข้างหน้า รวมทั้งหาโอกาสการลงทุนใน value chain ของ gas และ LNG เพิ่มเติม

2.ธุรกิจขั้นปลาย (reinforce downstream) การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ (synergy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาวให้กับกลุ่มธุรกิจ ด้วยการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ซึ่งจะทำให้ก้าวผ่านช่วง dawn circle ได้

3.reignite new business at scale ที่จะเป็นการเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยการลงทุนในธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน เช่น ยา อาหารเสริม ไลฟ์สไตล์ที่ทางบริษัทย่อย PTTOR ดำเนินการอยู่ รวมถึงการขยายไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์

“เรื่องของพลังงานหมุนเวียน เป้าหมายจะท้าทายมากขึ้น ด้วยภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นมีความสำคัญ เราต้องทำธุรกิจนี้ โดยอาจมีการแบ่งเงินเข้าไปเพิ่ม รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งแผนทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การทบทวนแผนลงทุน 5 ปี ที่จะมีการทบทวนในปลายปีนี้”


สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2563) ของกลุ่ม ปตท. มีรายได้ 824,892 ล้านบาท ลดลง 26% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เป็นผลมาจากราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ลดลง ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันที่ต่ำเหลือ 30.6 เหรียญ/บาร์เรล จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) 86,593 ล้านบาท ลดลง 44% และมีกำไรสุทธิ 10,499 ล้านบาท ลดลง 81% สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ที่ 40-45 เหรียญ/บาร์เรล