ชี้ช่อง FTA กู้วิกฤตดอกไม้ แก้โควิดทุบยอดส่งออกดิ่ง

ส่งออกดอกไม้ไทยช่วงโควิด
Alex OGLE / AFP

โควิดทุบส่งออกไม้ดอกไทยหด 31% พาณิชย์หนุนเอกชนใช้เอฟทีเอฝ่าวิกฤต นักวิจัยพันธุ์แนะแก้จุดอ่อนคุ้มครองพันธุ์ ยกเครื่อง Global GAP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีมูลค่า 46.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดหลักส่วนใหญ่หดตัว อาทิ สหรัฐ ส่งออก 8.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 46% ญี่ปุ่น 8.38 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 17% สหภาพยุโรป 5.67 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 40% และเกาหลีใต้ ส่งออก 3.36 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 31% แต่มีตลาดอาเซียนที่ขยายตัวดี อาทิ ลาว ขยายตัว 16% มูลค่า 0.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา ส่งออก 0.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45% ซึ่งตลาดนี้นิยมดอกกล้วยไม้ ไม้ประดับ เช่น มอส และไลเคน เป็นต้น

ล่าสุดกรมลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2563 เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักของไทย โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าสินค้านี้จะกลับมาขยายเพิ่มอีก เพราะไทยมีจุดแข็งเรื่องภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิอากาศที่ดี มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีนักปรับปรุงพันธุ์ใหม่ ๆ จำนวนมาก

นางอรมน กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้กรม มีแผนจะพาเกษตรกร ผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไปสำรวจตลาดและสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะนำร่องที่สิงคโปร์ และหากผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จากแต้มต่อการลดภาษีเอฟทีเอ ซึ่งขณะนี้มี 17 ประเทศไม่ต้องเสียภาษี และปรับเปลี่ยนทำตลาดช่องทางออนไลน์ จะมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก

ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผอ.ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ตลาดไม้ตัดดอกโลกปี 2017 มีมูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยอินเดียเป็นผู้ปลูกอันดับ 1 ส่วนไทยเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ยอดส่งออกไทยทรงตัวปีละ2,000-3,000 ล้านบาท สะท้อนว่าไทยไม่มีการพัฒนา ทั้งยังนำเข้าบางส่วนจากจีนและมาเลเซียเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

“จุดแข็งของผู้นำในตลาดโลกคือนวัตกรรม ซึ่งไทยขาดนวัตกรรม และเมื่อพัฒนาพันธุ์แล้วยังไม่สามารถนำไปจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ใหม่ในตลาดต่างประเทศ ยกตัวอย่าง ปทุมมา ซึ่งเราวิจัยใช้เวลานานเป็นปี มีต้นทุนในการวิจัยสูงพันธุ์ละเป็นล้านบาท แต่มีการขโมยพันธุ์กันเอง การจะไปทำตลาดต่างประเทศเสี่ยงมาก เราไม่ได้เข้าเป็นภาคี UPOV 1991 แต่เวียดนามที่เข้าเป็นภาคีแล้วนักลงทุนต่างชาติจึงเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะเรื่องการคุ้มครองพันธุ์มีความหมายมากสำหรับนักวิจัย”


พร้อมกันนี้ขอให้รัฐให้การช่วยเหลือด้วยกองทุนเอฟทีเอเช่นที่ผ่านมา ขอให้รัฐส่งเสริมงบวิจัยฯอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการตลาด เช่น เข้าร่วมงานฟลาวเวอร์ เอ็กซ์โปเพื่อทราบว่าลูกค้าต้องการดอกไม้อะไร และการจดเครื่องหมาย Global GAP เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ