คลอด 3 ไกด์ไลน์ คุม “ค้าปลีก-แฟรนไชส์-ชาวสวนผลไม้”

สวนผลไม้

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ออก 3 ไกด์ไลน์ เพื่อยกระดับมาตรฐาน “ค้าปลีก-แฟรนไชส์-ชาวสวนผลไม้”

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือ  “ไกด์ไลน์” เพื่อสร้างความชัดเจนและยกระดับทางการค้าให้มีมาตรฐานรวม 3 ไกด์ไลน์ คือ ไกด์ไลน์ค้าปลีก ไกด์ไลน์แฟรนไชส์ และ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ และในปัจจุบันทั้ง 3 ไกด์ไลน์นี้ ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว 2 ไกด์ไลน์ อีก 1 ไกด์ไลน์ คือ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ กำลังอยู่ระหว่างการประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา

สำหรับไกด์ไลน์ฉบับแรก คือ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย โดยภายใต้ไกด์ไลน์ค้าปลีก ได้กำหนดพฤติกรรมที่ห้ามกระทำ เช่น การกำหนดราคารับซื้อ หรือกดราคารับซื้อต่ำกว่าราคารับซื้อปกติโดยไม่มีเหตุผลสมควร  การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การบังคับให้ซื้อหรือให้จ่ายค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม การให้พนักงานของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นธรรม การปฏิเสธการรับสินค้าที่สั่งซื้อหรือสั่งผลิตพิเศษเป็นการเฉพาะของผู้สั่งผลิต (ไพรเวท แบรนด์) หรือเป็นตราเฉพาะของผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (เฮาส์แบรนด์) อย่างไม่เป็นธรรม และการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ เช่น การคืนสินค้า  การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้า การถอดสินค้าออกจากชั้นวางสินค้า เป็นต้น

สำหรับไกด์ไลน์ฉบับที่ 2 คือ แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์  หรือไกด์ไลน์แฟรนไชส์ ซึ่งเรื่องแฟรนไชส์ ก็มีร้องเรียนเข้ามาพอสมควร ก็เลยต้องมาเขียนให้ชัดเจนว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เช่น กำหนดให้เจ้าของแฟรนไชส์ต้องเปิดเผยข้อมูลการประกอบธุรกิจและเงื่อนไขการทำธุรกิจ ทั้งหมด ห้ามจำกัดสิทธิของผู้ซื้อแฟรนไชส์โดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม เช่น การบังคับซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรื่องการขยายสาขา หากแฟรนไชส์ซอร์จะมาตั้งสาขาแข่ง ในบริเวณใกล้เคียงที่มีแฟรนไชส์ซีตั้งสาขาอยู่แล้วต้องแจ้งให้แฟรนไซส์ซีทราบ และให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน เป็นต้น

ส่วนฉบับที่ 3 คือ แนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ (ล้ง) เพราะที่ผ่านมา เกษตรกรมีปัญหาร้องเรียนว่าถูกล้ง เอาเปรียบในการรับซื้อผลไม้ จึงต้องมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกิจให้เป็นธรรม และปกป้องเกษตรกร  ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

โดยมีการกำหนดพฤติกรรมต้องห้าม ได้แก่ 1) ห้ามกำหนดเงื่อนไข ในสัญญา อย่างไม่เป็นธรรม เช่น การไม่ระบุวัน หรือช่วงเวลาในการเข้าเก็บผลไม้ รวมทั้ง ไม่ระบุวันสิ้นสุดของสัญญา ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลไม้ ให้ผู้ซื้อรายอื่นได้  2) ห้ามปรับลดราคารับซื้อ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใด ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายหลังการทำสัญญา ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม  3) ห้ามชะลอการเข้าเก็บผลไม้ หรือการเก็บผลไม้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญาซึ่งเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

4) ห้าม “ฮั้ว” หรือตกลงร่วมกัน ในการกำหนดราคาซื้อ จำกัดปริมาณซื้อ หรือแบ่งท้องที่ในการรับซื้อ เพื่อผูกขาดหรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างในขั้นตอนนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และน่าจะบังคับใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ กขค. กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยกำลังอยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ www.otcc.or.th เป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม ถึง วันที่ 15 กันยายน 2563 รวมทั้งมีกำหนดการจะจัดรับฟัง     ความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ในวันที่ 11 กันยายน 2563 ณ โรงแรมหรือสถานที่อื่นในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลอีกทางหนึ่งด้วย