“โรงไฟฟ้าชุมชน” ในมือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือเป็นตำแหน่งที่ทุกฝ่ายจับตามองมากที่สุด แม้เป็นกระทรวงงบประมาณต่อปีน้อยแค่ไม่กี่พันล้านบาท แต่ต้องกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจท็อป 5 ของประเทศ อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรืออย่าง ปตท.

ซึ่งสองหน่วยงานรวมกันนำส่งรายได้เข้ารัฐช่วงครึ่งปีแรก 2563 ถึง 31,440 ล้านบาท จากรายได้รัฐวิสาหกิจทั้งก้อน 1.1 แสนล้านบาท และได้ข้อสรุปออกมาเป็น “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตผู้บริหารบริษัท ในกลุ่ม ปตท. สังคมก็ยิ่งจับตามองนโยบายด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เป็นวันแรกที่นายสุพัฒนพงษ์ มอบนโยบายการทำงานที่กระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า นับจากนี้จะใช้ 3 นโยบายหลัก คือ การสร้างงานสร้างรายได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐาน เพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (execution) ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด 

ปั้นงาน 4 แสนตำแหน่ง

สำหรับการสร้างงานสร้างรายได้ จะทบทวนมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนว่าจะเข้าไปช่วยส่วนใดได้บ้างอีก รวมถึงการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 400,000 คน ที่คาดว่าจะตกงาน โดยมอบให้เอกชนจัดทำแผนการจ้างงานที่เหมาะสม และนำกลับมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปีงบประมาณ 2564 โดยการบริหารงานขณะนี้มีการกลั่นกรองโครงการแล้ว ในส่วนของงบฯปี 2563 จะเดินหน้าต่อไปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติ 

“จากการหารือร่วมกับรัฐและเอกชนด้านพลังงานได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยเฉพาะรองรับการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ และการช่วยเหลือ SMEs รวมถึงเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงราคาพลังงาน อาทิ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่อไป”  

ลุยต่อ “โรงไฟฟ้าชุมชน” 

ขณะที่การดำเนินงานด้านพลังงานต่าง ๆ ไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส โดยที่แนวทางการบริหารส่วนใหญ่จะยังเน้นที่การ “สานงานเดิม” โดยเฉพาะงานเร่งด่วนที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานศึกษาหาข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ภายใน 30 วัน เพื่อทำการวางกรอบงานและให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่เอกชนผู้ประกอบการ จากนั้นจะประกาศเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วม

“โรงไฟฟ้าชุมชนไม่จำเป็นต้องรอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่สามารถใช้บทแทรกในแผน PDP 2018 ฉบับเดิมเพื่อขอความเห็นตามขั้นตอนของกระทรวงพลังงานได้ อย่างไรก็ตามกรอบโรงไฟฟ้าชุมชน เช่น ต้องชัดเจนว่ามีวัตถุดิบเพียงพอ มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอหรือไม่พื้นที่ปลูกคุ้มค่ากับที่นำไปขายเป็นเชื้อเพลิงหรือไม่ ต้องให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนโดยใช้โรงไฟฟ้าเป็นเพียงแค่ทางผ่าน”

ส่วนการจะนำร่องแผนระยะเร่งด่วน (qick win) 100 เมกะวัตต์ หรือ 200 เมกะวัตต์ หรือไม่นั้นต้องรอดูผลการศึกษาแผนนี้ก่อน ขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องของเชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชน 

และต้องดูว่าเอกชนที่พร้อมเขาเสนอมาอย่างไร เพื่อจะได้ดูว่าการรับซื้อจะเป็นอย่างไร แผนของเรา คือ
เห็นกรอบปี 2563 จะเริ่มได้ปี 2564

โซลาร์ประชาชน “ไม่ด่วน” 

ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่เปิดรับซื้อไฟส่วนเกิน 1.68 บาท/หน่วย มีนโยบายที่ต้องการให้เพิ่มอัตรารับซื้อ แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟจนเกินไป จึงให้ไปศึกษาและยังไม่ยกเลิกอะไร  

“ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาชน แต่ยังคงดำเนินการในส่วนนี้ไม่ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนนัก ยังมีเวลา”

สำหรับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานนั้น ยังคงเร่งหาความชัดเจนในการเจรจาเพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา แต่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ส่วนนโยบายเดิมที่วางไว้ในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติศึกษาว่า มีผู้ประกอบการสนใจมากน้อยเพียงใด แปลงใหม่ที่จะเปิดมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด หากเปิดในตอนนี้ ราคาพลังงานไม่สูงจะมีความจูงใจหรือไม่

ส่วนเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นระยะที่ 2  มีเอกชนหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ภายในปีนี้  


สุดท้ายการวางอนาคตและบทบาทการทำงานของกระทรวงเช่น การขับเคลื่อนแผนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเน้นความเร็ว รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือประเทศ นอกจากนี้ จะส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ B10 ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ 3 นโยบายใหญ่ของกระทรวงพลังงาน