ปั๊มพีที ทุ่มทุนไล่จี้ยักษ์ ปตท. ดัน กาแฟ-ปาล์ม เข้าตลาดหุ้น

ปั๊มน้ำมัน พีทีจี (PTG)

โควิดไม่สะเทือน PT เตรียมเงิน 3,000 ล้าน ขยายปั๊มน้ำมัน-ปั๊มก๊าซตั้งเป้าแตก 3 ธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ “ปาล์มคอมเพล็กซ์-LPG-กาแฟพันธุ์ไทย” เผยกลยุทธ์สร้างสถานีบริการน้ำมันแซงหน้าเพิ่มยอดขายขยับส่วนแบ่งตลาดแข่ง ปตท. ชู Max Card รุกเครือข่ายธุรกิจอนาคต ตั้งเป้า 2 ตำบลต่อ 1 จุด คิดต่อยอดธุรกิจน็อนออยล์ ลดสัดส่วนน้ำมันจาก 90% เหลือ 40%

“PTG” ผู้ประกอบการน้ำมันและก๊าซ LPG ภายใต้แบรนด์ “PT” ยังคงสามารถรักษา “กำไรสุทธิ” จากผลประกอบการในไตรมาส 2/2563 ไว้ที่ 717 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทน้ำมันเกือบทุกบริษัทในประเทศมีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกัน ความสามารถในการทำกำไรดังกล่าว ประกอบกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ PTG ตัดสินใจที่จะเดินหน้าในการขยายการลงทุนต่อไปในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

โหมขยายสาขาปั๊มต่อ

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลประกอบการในไตรมาส 2/2563 ที่สามารถกลับมาทำกำไรได้อีก มาจากปัจจัย 3-4 ประการคือ ยอดขายน้ำมันในภาพรวมเริ่มกลับมาดีขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ PT มากขึ้น ค่าการตลาดน้ำมันอยู่ในระดับที่ 1.80-1.90 บาท ความสามารถในการคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นทำได้ดี แม้ว่าอาจจะดีไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 10-15% แต่ปีนี้คาดว่า PT จะเติบโตได้ 6-10%

ทั้งนี้ในช่วงเดือนเมษายนที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด มีการนำมาตรการ work from home หรือ WFH มาใช้ ส่งผลให้การเดินทางลดลง ตัวเลขการใช้น้ำมันโดยรวมก็ลดลงตามไปด้วย แต่ยอดการใช้น้ำมันที่ลดลงนั้น “ไม่ได้ลดลงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” สาขาสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะอยู่บริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่ง PT มีสถานีบริการน้ำมันในส่วนนี้น้อย

“ปัจจุบันเรามีปั๊มน้ำมันอยู่ 2,064 สาขากระจายกันอยู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นอีสาน 32% ภาคเหนือ 21% ภาคใต้ 7-8% ส่วนกรุงเทพฯที่ยอดขายตกลงไปเยอะ เรามีสาขาแค่ 7% เท่านั้น ทำให้เราได้รับผลกระทบจากมาตรการทำงานที่บ้านน้อยกว่าผู้ค้าน้ำมันรายอื่นหลังกรุงเทพฯถูกล็อกดาวน์” นายพิทักษ์กล่าว

จากปัจจุบัน PT มียอดจำหน่ายน้ำมันเป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท ปตท. จากยอดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 100% แบ่งเป็นขายปลีก 72% และขายกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและอื่น ๆ อีก 28% โดยบริษัท ปตท.น่าจะถือครองส่วนแบ่งตลาดขายปลีกอยู่ประมาณ 39-40% ขณะที่ PT มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 17-18% ภายในสิ้นปีนี้ แต่ถ้าส่วนแบ่งตลาดทั้ง 2 ตลาด (ทั้งขายปลีกและอุตสาหกรรม) ปตท.จะถือครองอยู่ประมาณ 38-39% PT อยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ห่างกันไม่มากนัก”

แต่หากเทียบจำนวนสถานีบริการน้ำมันแล้ว PT มีจำนวนสถานีบริการมากที่สุดในประเทศ จากเหตุผลในการบริหารจัดการสถานีบริการที่ดีกว่าคู่แข่งที่เน้นการให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนเอง ส่วน PT ใช้วิธี “เช่าระยะยาว” แทน การลงทุนต่อสถานีจึงต่ำกว่ามาก ยกตัวอย่าง สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ลงทุนในหลัก 100 ล้านบาทต่อ 1 สถานีขึ้นไป ส่วน PT ใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านบาทต่อ 1 สถานี หรือเท่ากับว่า “เงินลงทุนในจำนวนเท่ากัน PT สามารถแตกจำนวนสาขาได้มากกว่าถึง 5 สถานี”

สำหรับแผนการลงทุนในครึ่งปีหลังได้เตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากภาพรวมครึ่งปีหลัง (มกราคม-มิถุนายน 2563) PT มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด 2,064 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จำนวน 111 แห่ง แบ่งเป็นสถานีบริการน้ำมัน 1,866 แห่ง สถานีบริการก๊าซ LPG จำนวน 198 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานีบริการที่ดีลเลอร์ลงทุนเพียง 200 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 10-15% โดยในครึ่งปีหลังจะมีการลงทุนขยายจำนวนสถานีบริการอีกประมาณ 150 แห่ง

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพียงแต่เราฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนอื่น ในระหว่างที่ล็อกดาวน์ประเทศ ทีมงานของเราก็ดำเนินงานเตรียมพื้นที่ที่จะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ไว้ล่วงหน้า พอรัฐบาลดำเนินมาตรการผ่อนคลาย ยอดจำหน่ายน้ำมันกลับมาอีกครั้ง ทำให้ PT สามารถล็อกเป้าหมายจะเปิดสถานีบริการแห่งใหม่ได้ทันทีประมาณ 105 แห่ง เป็นปั๊มน้ำมัน 70 แห่ง กับปั๊มก๊าซ 35 แห่ง ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีในการหาทำเลสร้างปั๊ม เพราะได้ราคาถูก ค่าเช่าลดลง” นายพิทักษ์กล่าว

Max Card เครือข่ายใหม่

นอกจากการขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันเพื่อสร้างยอดจำหน่ายน้ำมันให้เพิ่มขึ้นแล้ว PT ยังใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “power of network” ในการสร้างเครือข่ายธุรกิจเข้มแข็ง เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน (nonoil) ด้วยการอาศัยเครือข่ายของบัตรสมาชิกสะสมแต้ม “Max Card” ผ่านจำนวนสถานีบริการน้ำมัน PT ซึ่งในอนาคต PT เตรียมที่จะจัดให้มีจุดทรัสต์พอยต์ (พีที) 1 จุดทุก ๆ 2 ตำบลทั่วประเทศ ใครจะมารับสินค้าก็ใช้จุดบริการนี้หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกบัตรแมกซ์การ์ดให้มากยิ่งขึ้น

“เป็นความจริงที่ว่า ธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อย การแข่งขันสูง แถมบางปีราคาน้ำมันในตลาดโลกยังวูบวาบ ถูกรัฐเข้ามาควบคุมกลาย ๆ ดังนั้นในอนาคต PT ต้องการที่จะลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำมันลงจากที่ 90% เป็น 40% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 60% ภายในปี 2566-2567 โดยบัตร Max Card ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ PT จะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านทางโครงข่ายที่บัตรสมาชิกวางเอาไว้ทั่วประเทศ”

นำ 3 ธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในอนาคตอันใกล้นี้ PT ยังมีแผนที่จะนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อีก 3 กลุ่มคือ

1) ธุรกิจก๊าซ LPG จะนำธุรกิจนี้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2565 จากจำนวนสถานีบริการ LPG ปัจจุบันที่ 198 แห่ง แม้ภาพรวมการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงครึ่งปีแรกจะลดลง 12% แต่จุดแข็งของธุรกิจค้าก๊าซนี้คือ กำไรขั้นต้นประมาณ 21-22% เทียบกับน้ำมันแค่ประมาณ 7-8% หรือกำไรสุทธิก๊าซ 7% แต่น้ำมันมีกำไรสุทธิเพียง 1% และภายในปี 2564 PT ตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดก๊าซขยับขึ้นจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 3 ให้ได้

“จุดแข็งของปั๊มก๊าซ LPG ของเราก็คือ ระบบสมาชิกที่แบรนด์อื่นไม่มี ลูกค้า PT ที่มี Max Card ใช้สะสมแต้มได้ทั้งน้ำมันและก๊าซ LPG อัตราคะแนนสะสมก็เท่ากันทุกชนิดน้ำมัน ได้สิทธิประโยชน์ในการใช้บริการและซื้อสินค้าจากพันธมิตรมากกว่า 100 ราย ไม่ใช่แค่อาหาร เครื่องดื่ม โรงหนัง เทเลคอม แต่ยังมีถึงโฮมโปร นายอินทร์ ฟิล์มลามิน่า ล่าสุดที่เราเพิ่งจะให้สิทธิพิเศษการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับกลุ่มแท็กซี่และมีบริการน้ำมันหมดที่ไหนเรามีบริการส่งน้ำมันให้ทั่วประเทศ หรือ Max Service จากปัจจุบันเรามีสมาชิก Max Card จำนวน 15 ล้านราย และจะขยายถึง 17.5 ล้านรายในปี 2564” นายพิทักษ์กล่าว

2) ธุรกิจปาล์มครบวงจรหรือ palm complex ตั้งใจจะเปิดเทรดใน SET ปี 2665 โดยธุรกิจปาล์มครบวงจรปัจจุบันมีตั้งแต่โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ไปจนกระทั่งโรงงานผลิต B100 ขายให้กับทั้งลูกค้าโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอาหาร จากปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 500,000 ลิตร/วัน และพร้อมที่จะขยายการลงทุนในเฟส 2 ต่อไป หากสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดีขึ้นากนโยบายน้ำมัน B10 ของกระทรวงพลังงาน

3) ธุรกิจร้านกาแฟพันธุ์ไทยและกาแฟ Coffee World ปัจจุบันมีจำนวนสาขาประมาณ 329 สาขา (พันธุ์ไทย 260 สาขา-Coffee World 69 สาขา) โดยนายพิทักษ์กล่าวว่า ร้านกาแฟพันธุ์ไทยมี EBITDA เริ่มเป็นบวก และเตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2567 โดยจะเริ่มนับ 1 เตรียมตัวตั้งแต่ปี 2564 ด้วยการพัฒนาแบรนด์อย่างจริงจังเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการวางโพซิชั่นว่า “ถ้าเดินทางต้องกาแฟพันธุ์ไทย แต่ถ้าเดินห้างก็ต้อง Coffee World” ตอนนี้กาแฟติดอันดับท็อป 5 ในธุรกิจกาแฟไทย รองจากอเมซอน สตาร์บัคส์ ทรูคอฟฟี่ และชาวดอย

ขณะที่ร้านค้าปลีกแมกซ์มาร์ต (Max Mart) ที่บริษัทได้พัฒนามา 6-7 ปี มีจำนวน 201 สาขา แม้ว่าภาพรวมครึ่งปีแรกจะยังขาดทุน แต่ตั้งใจว่าไตรมาส 4/2563 จะทำให้ EBITDA เป็น 0 “เราตั้งใจว่าจะพัฒนาค้าปลีกสัญชาติไทย โดยไม่ซื้อของนอกด้วยตัวเราเอง ในอนาคตเรามองถึงโอกาสการขยายสาขาไปนอกปั๊มด้วย” นายพิทักษ์กล่าว