ลุ้นลงทุน “EEC” ฟื้นครึ่งปีหลัง มิตซูบิชิผุดโรงงาน 2 หมื่นล้าน

การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สัญญาณลงทุนคึกคักครึ่งปีหลัง EEC ดันทุกโครงการ “สมาร์ทปาร์ค ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 อุตสาหกรรมยานยนต์”เชื่อไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วหวังการลงทุนกลับมา ด้าน “มิตซูบิชิ” ทุ่ม 20,000 ล้านบาท ผุดโรงพ่นสีแห่งใหม่ พร้อมเปิดไลน์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า PHEV ต้นปี 2564

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 2/2563 ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เมื่อวันที่ 24-25 ส.ค. 2563ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้นับว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค. 2563) การกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าจะกลับมา เนื่องจากมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการ

นักลงทุนตัดสินใจกลับเข้ามา

สัญญาณที่บ่งบอกว่าการลงทุนจะกลับมา คือ แผนการลงทุน 20,000 ล้านบาท ของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อปรับปรุงศักยภาพการผลิต (restructuring project) โดย 7,000 ล้านบาท เป็นการตั้งโรงงานพ่นสีแห่งใหม่ และอีก 13,000 ล้านบาท เป็นโครงการผลิตรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์พีเอชอีวี ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่ทางบีโอไออนุมัติโครงการให้แล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ซึ่งการผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวจะเป็นการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกซึ่งเป็นไปตามแผนที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย ตามเป้าหมายที่ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2573

“การเดินหน้าโครงการใน EEC ทางนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งดูแลเรื่องนี้ยืนยันว่า ทั้งหมดจะยังคงเดินหน้าต่อ ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ผมอยากให้นักลงทุนมั่นใจว่า EEC จะต้องไปต่อ ไม่ชะลอหรือหยุด”

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากเกรทวอล มอเตอร์ส ประเทศจีน ที่เข้าซื้อกิจการเจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) จะเข้ามาในเดือน ต.ค. 2563 นี้ เพื่อเตรียมเดินหน้าเริ่มผลิตรถยนต์ปี 2564 นี่คืออีกหนึ่งสัญญาณของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังฟื้นตัวกลับมา หลังต้องพบกับสถานการณ์โควิด-19

ดังนั้น ในที่ประชุม ครม.สัญจร จึงได้นำเสนอและรายงานแผนการลงทุนของเอกชน ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้และรายงานให้ ครม.รับทราบถึงการหารือกับภาคเอกชน ที่จะกระตุ้นการซื้อให้กับคนซื้อรถใหม่ เช่น มาตรการทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่คนซื้อรถสามารถนำไปลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงการผลิต PHEV ที่ยังมีกฎบางอย่างเกี่ยวกับบีโอไอ ที่รัฐจะสนับสนุนปรับเพิ่มอะไรได้อีกตามที่เอกชนต้องการ

สำหรับโครงการลงทุนส่วนขยายของเอ็กซอนโมบิล ตามผลการศึกษา 4 พื้นที่นั้น ยังไม่ทิ้งส่วนการถมทะเล แต่จะชะลอออกไป และไปหาพื้นที่ที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในEEC Project List ซึ่งทางกัลฟ์ฯ และ ปตท.ได้สัญญาโครงการนี้ โดยจะเริ่มถมทะเลต้นปี 2564

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการ และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้

ในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการโครงการได้ในไตรมาส 1 ปี 2567 ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท)

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีพื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนา smart eco และใช้นวัตกรรมในการให้บริการระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางทางพาณิชย์ของชุมชนที่ทันสมัย รองรับการเจริญเติบโตของการใช้บริการภาคธุรกิจในพื้นที่

โดยมูลค่าการลงทุนระยะแรกประมาณ 2,480.73 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าออกแบบแนวคิดโครงการและการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และค่าดำเนินการก่อสร้าง เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล