พพ.โชว์ผลสำเร็จโครงการ “เอสโค ฟันด์” เอกชนร่วมประหยัดพลังงาน 45ล้านบาทต่อปี

พพ. เดินหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานทดแทนด้วยเงินทุนหมุนเวียน เผยผลสำเร็จภาคเอกชนแห่เข้ารับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ ช่วยประหยัดพลังงานให้ประเทศเม็ดเงิน 45ล้านบาทต่อปี

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนด้วยเงินทุนหมุนเวียน (ESCO Revolving Fund)” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP 2015 ) พ.ศ. 2558 -2579 พบว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และยังสามารถเพิ่มศักยภาพกับภาคธุรกิจในการจัดการพลังงานให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่สูงขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 23 ราย ทำให้โครงการดังกล่าว สามารถช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ ได้เท่ากับ 17.63 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (KWh)คิดเป็นมูลค่า 45 ล้านบาทต่อปี หรือลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 6.25 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน โดย พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของสถานประกอบการต่างๆ ถือได้ว่ามีความคืบหน้าในการเดินหน้าโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟมสำหรับบรรจุอาหาร โดยบริษัท พี.พี. แพคเกจจิ้ง จำกัด จ.นครปฐม ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับ 464,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (KWh) หรือเทียบเท่า 0.04 พันตันน้ำมันดิบ เทียบเท่าต่อปี (ktoe)คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 1.78 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 0.0003 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

โครงการดังกล่าว เป็นการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อการลงทุนในรูปแบบ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตราคงที่ 3.5% ต่อปี (Flat Rate) โดยมีระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยบริษัทได้เช่าซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ในโครงการติดตั้งอุปกรณ์ปรับลดแรงดันไฟฟ้า จำนวน 2 เครื่อง คือ ขนาดพิกัด 1,000 กิโลโวลต์แอมป์(แปร์) (kVA ) และขนาดพิกัด 1,500 กิโลโวลต์แอมป์(แปร์) (kVA )ภายใต้งบประมาณส่งเสริมจำนวน 6,452,100 บาท ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตลดลง จากเดิมที่ บริษัทใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 8,640,000กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (KWh)คิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 33.16 ล้านบาทต่อปี