เพิ่มมูลค่า “ยางพารา” ช่วยเกษตรกร 1.7 ล้านคน

Photo by Jonathan KLEIN / AFP

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจทั่วโลก แต่ “ยางพารา” พืชเศรษฐกิจหลักกลับมีแนวโน้มเป็นบวกชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม “ถุงมือยาง” ซึ่งได้กลายเป็น “โปรดักต์แชมเปี้ยน” ไปแล้ว ปกติไทยมีการส่งออกยางพารากว่า 85% ส่วนอีก 15% นำมาใช้ในประเทศ แต่อนาคตจะมีแนวทางอย่างไรในการเพิ่มมาร์จิ้นสินค้านี้ให้สูงขึ้น สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวสวนยาง

ปัจจุบันยางมี 3 ประเภท ได้แก่ ยางแห้ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น แต่มีมาร์จิ้นเพียงนิดเดียวเท่านั้น ขณะนี้จึงถึงเวลาที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องเพิ่มมาร์จิ้นผลิตภัณฑ์ยางให้สูงขึ้น ส่งเสริมโปรดักต์แชมเปี้ยนอย่างมาเลเซีย เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นเบอร์ 1 โลกให้ได้

องค์ความรู้ ต้นน้ำ

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ กยท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 35% มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 1.7 ล้านคน ถือเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างมาก เป็นอาชีพหลักของหลายชีวิต แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน เกิดเสถียรภาพราคาไม่พึ่งพิงการส่งออกมากเกินไป

“ไทยควรมุ่งพัฒนายางพาราคุณภาพสูง โดยเริ่มจากต้นน้ำควรเน้นพัฒนาองค์ความรู้ โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานชาวสวนยางได้มีโอกาสทำวิจัยและพัฒนาสินค้ายางพารา โดยจะดำเนินการเรื่องนี้ในปี 2564 วงเงิน 40 ล้านบาทต่อปี สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีต้องเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น ส่วนกลุ่มปริญญาโท และปริญญาเอก สามารถเรียนคณะใดก็ได้ แต่ต้องมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับยางพารา เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต”

ทั้งยังจะปรับในส่วนของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ให้มีการเก็บเงินจากการส่งออกยางมาสมทบเพื่อนำไปสนับสนุนการปลูกยางพันธุ์ดี ตามความต้องการของตลาดมากขึ้น

ดันสตาร์ตอัพ

ภารกิจที่สำคัญอีกด้าน คือ ต้องผลักดัน “สตาร์ตอัพ” โดยให้การช่วยเหลือแหล่งเงินทุน ติดอาวุธให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่ง กยท.มีงบประมาณเฉพาะเรื่องนี้ 3,000 ล้านบาทแต่อาจต้องแก้ไขกฎระเบียบให้ ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ได้ตรงจุดด้วย คู่ขนานกับการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า เพื่อดึงข้อมูลยางพารามาใช้ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ตั้งไข่ “รับเบอร์วัลเลย์”

การพัฒนา”โครงการรับเบอร์วัลเลย์” เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมยางพาราครบวงจรของโลก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานที่ได้ดำเนินการที่ต้องการให้เป็นรูปธรรมในปีนี้ โดย กยท. คัดเลือก พื้นที่ 1.04 หมื่นไร่ ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่สีม่วง หมายถึง พื้นที่ที่สามารถทำอุตสาหกรรมได้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการจัดการสวนยาง การวิจัยที่ตอบโจทย์สมัยใหม่ โดยจะดึงทุกหน่วยงานร่วมก่อตั้ง กยท.จะสนับสนุนเรื่องพื้นที่ ระบบโลจิสติกส์ครบวงจร

“ความคืบหน้ารับเบอร์วัลเลย์ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าและดึงดูดนักลงทุนจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2563 เริ่มก่อสร้างระยะเวลา 3-4 ปี ระหว่างนี้ กยท.จะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจนักลงทุน ตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถยื่นขอส่งเสริมการลงทุนได้”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นโอกาสที่รัฐบาลต้องคว้าไว้ เพราะหลายประเทศมีความต้องการใช้ถุงมือยางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถุงมือยางทางการแพทย์

ทั้งนี้ ไม่เพียงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่กยท.ยังมุ่งเน้นวิจัยเพื่อต่อยอดและลดข้อจำกัดเรื่องผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง สัดส่วนประมาณ 20% เนื่องจากยางธรรมชาติมีคุณสมบัติที่สามารถกระชับไปกับผิว เหมาะกับถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ได้ดี หากพัฒนาลดข้อจำกัดในการใช้ จะช่วยเปิดตลาดไปยังต่างประเทศให้มากขึ้นด้วย

“ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์เป็นอันดับ 2 ของโลก นั่นคือ ไทยจะเป็นฮับฐานผลิตถุงมือยางธรรมชาติ คนละตลาดกับมาเลเซียซึ่งเน้นใช้ส่วนผสมจากยางสังเคราะห์ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กยท.จะประสานหน่วยงานหลัก ๆ อาทิกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม ผมอาจจะขอรัฐบาลฟาสต์แทร็กโครงการนี้ให้เร็วขึ้น”