ปั้น “ชิมช้อปใช้” อุ้มคนตัวเล็ก รัฐช่วยจ่ายตลาดนัดรถเข็น

ศบศ.ชุดเล็กชงมาตรการเศรษฐกิจเร่งด่วน “ชิม ช้อป ใช้ #คนตัวเล็ก” เข้าที่ประชุมใหญ่ 2 ก.ย. มุ่งกระตุ้นกำลังซื้ออัดเม็ดเงินในกลุ่มตลาดนัดแผงลอย-รถเข็น โฆษก ศบศ.เผยวิกฤตโควิด ปัญหาลากยาว เตรียมออกมาตรการปูพรมต่อเนื่อง ระยะสั้นโฟกัสการส่งผ่านกำลังซื้อไปที่กลุ่มฐานรากที่ได้รับปัญหาหนักสุด พร้อมเดินหน้ามาตรการรัฐช่วยจ่ายเงินเดือนให้บริษัท “จ้างงานใหม่”

นายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ศบศ.ครั้งต่อไปในวันพุธที่ 2 ก.ย. ซึ่งก็จะมีการนำเสนอมาตรการเร่งด่วนหลายมาตรการเข้าที่ประชุม ซึ่งจากที่ ศบศ.ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ซึ่งมีนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน นอกจากมีการหารือเรื่องมาตรการ “จ้างงานใหม่” ที่รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนเงินเดือนบางส่วน ในการจ้างงานใหม่ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือรายละเอียด นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเร่งศึกษามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มฐานราก

ชิม ช้อป ใช้ #คนตัวเล็ก

โฆษก ศบศ.กล่าวว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจจะทยอยออกมา โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นจะมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเม็ดเงินลงไปที่กลุ่มฐานราก เทียบเคียงกับมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ผ่านมา แต่มีการปรับโมเดลแก้จุดอ่อนคือ ชิม ช้อป ใช้ เดิม ผู้เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้ประกอบการร้านใหญ่ หรือร้านค้าในระบบภาษี แต่เป้าหมายของมาตรการครั้งนี้จะเป็นกลุ่มรายย่อยแผงลอย รถเข็น ตลาดนัด ตลาดสด

ตอนนี้คณะอนุฯชุดมาตรการเร่งด่วนกำลังคิดหาโมเดลเพื่อให้กลุ่มนี้ “ชิม ช้อป ใช้” เวอร์ชั่นใหม่ จะไม่เกี่ยวข้องกับกลไกภาษีเพื่อให้คนตัวเล็กที่ได้รับประโยชน์ ตอนนี้ทุกคนเร่งทำงานเต็มที่แต่การใช้เงินหลวง เงินภาษี ก็ต้องศึกษาผลดี ผลเสียอย่างรอบคอบ

“ให้ร้านค้ารถเข็นที่ขายหมูปิ้ง ข้าวแกง50 บาท ได้รับประโยชน์ เป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ตอนนี้จะโฟกัสกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือ รากหญ้า แต่หลังจากนี้ก็จะต้องมาตรการเพื่อมาดูแลในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ต่อไปอีก” นายสมิทธ์กล่าวและว่า

ปูพรมมาตรการต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในการประชุมสัปดาห์หน้า คาดว่าจะมีการหารือแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตโมเดล” ซึ่งในส่วนนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพื่อให้รัดกุมรอบคอบที่สุด

“เนื่องจากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น มาตรการเดิมที่เคยใช้ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ นอกจากนี้ เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอีกเยอะ และออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็ทำงานแข่งกับเวลา” นายสมิทธ์กล่าว

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนในส่วนของสมาคมค้าปลีก สภาอุตสาหกรรมฯก็มีข้อเสนอมาตรการต่าง ๆ เข้ามา ทาง ศบศ.ก็ต้องมาพิจารณาว่า มาตรการเหล่านั้นเหมาะสมหรือไม่ ไปถึงคนเดือดร้อนส่วนใหญ่หรือไม่ เพราะในขณะที่รัฐบาลมีทรัพยากรจำกัด แต่ละมาตรการก็จะต้องส่งออกไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

รัฐช่วยจ่ายเงินซื้อหมูปิ้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในส่วนของ ศบศ.ชุดเล็กที่จัดทำเรื่องมาตรการเร่งด่วน ซึ่งมีสมาคมธนาคารไทยเป็นแกนหลักนั้น กำลังเร่งศึกษาเรื่องมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในระดับฐานราก โดยมาตรการชิม ช้อป ใช้ ใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้เฉพาะ “คนตัวเล็ก” เข้าร่วม ซึ่งในส่วนนี้เครือข่ายสมาคมธนาคารไทยมีฐานข้อมูล และสามารถช่วยกันดำเนินการเพื่อให้ร้านค้าคนตัวเล็กทั่วประเทศมี “เป๋าตุง” เพื่อรับเงินจากมาตรการรัฐที่จะใส่ลงไป โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงิน”อีเพย์เมนต์” เป็นเครื่องมือ คาดว่าจะเป็นการต่อยอดจาก “เป๋าตุง” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับร้านค้ารองรับการชำระเงินผ่าน QR code

แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบจะเป็นลักษณะรัฐบาลร่วมจ่าย (copayment) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนไปซื้อสินค้าจากคนตัวเล็ก เพื่อให้เกิดกำลังซื้อในระดับฐานรากมากขึ้น เช่น ซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง 50 บาท รัฐบาลจะช่วยจ่ายอาจจะครึ่งหนึ่ง หรือเท่าไหร่ ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งจะออกแบบเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายกับกลุ่มระดับฐานรากมากขึ้น

สมาคมแบงก์นำทีม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้ระบุถึงกลุ่มบุคคลที่จะได้รับสิทธิ์ส่วนลดค่าครองชีพดังกล่าวว่า จะใช้กลุ่มที่ขึ้นทะเบียน “เป๋าตัง” ไว้แล้ว 15 ล้านราย หรือใช้ฐานกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือเปิดกว้างให้ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงวงเงินที่รัฐบาลจะร่วมจ่ายของแต่ละคนว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งระยะเวลาของการดำเนินมาตรการ เพราะหมายถึงเงินงบประมาณหรือเม็ดเงินของรัฐบาลที่จะต้องใส่เข้าไป

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน นอกจาก นายปิติ ตัณฑเกษมเป็นประธาน ยังประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ (นายสมประวิณ มันประเสริฐ), ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อบุคคล (นายฐากร ปิยะพันธ์), กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (นายรักษ์ วรกิจโภคาทร) และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง