นิคมไทยสะดุดญวนเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินรวดเดียว

อมตะฯ-WHA มึนนโยบายรัฐบาลเวียดนาม เปลี่ยนเก็บค่าเช่าที่ดินนักลงทุนต่างชาติ “จากปีต่อปีเป็นเก็บรวบครั้งเดียว” หลังปัญหาการเมืองภายในป่วน เร่งล็อบบี้รัฐบาลผ่อนผันด่วน หวั่นกระทบงบการเงิน ด้านอมตะฯขยับผังพื้นที่ตั้ง “นิคมอมตะซิตี้ฮาลอง” ใหม่ เลื่อนเปิดตัวไปต้นปี 2561

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลประเทศเวียดนามได้ปรับกฎหมายต่าง ๆ เช่น เก็บค่าเช่าที่ดินระยะยาวครั้งเดียว จากเดิมเก็บปีต่อปี เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติในธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงมีนักลงทุนบางรายต้องใช้วิธีการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลให้ผ่อนผันหรือยืดหยุ่นบางกฎระเบียบลง เพื่อไม่ให้กระทบต่องบการเงิน การจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากจนเกินไป ทำให้บางโครงการต้องชะลอการก่อสร้างหรือเดินหน้าต่อ เพราะต้องรอให้รัฐบาลตรวจสอบและพิจารณามากขึ้น

ทั้งนี้ปัจจุบันนักลงทุนไทยที่ประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ไปลงทุนในเวียดนามมีเพียง 2 ราย คือ กลุ่มอมตะ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ จำกัด (มหาชน) ในนามนิคมฯเหมราช เวียดนามแม้มีแต้มต่อเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย แต่มีการปรับขึ้นถี่ อีก 2-3 ปีน่าจะใกล้เคียงกับไทย จะทำให้ไทยสามารถดึงนักลงทุนกลับมาได้

นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการอมตะซิตี้ฮาลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณฮาลองเบย์ เมืองกว๋างเยน และเมืองอองบี จังหวัดกว๋างนิง ประเทศเวียดนาม พื้นที่ประมาณ 36,000ไร่ ได้มีแผนการขยับพื้นที่พัฒนาใหม่ ห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 10 กม.เพื่อไปใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับลงทุนพัฒนาโครงการเฟส 1 ก่อน ซึ่งจะส่งผลให้อมตะฯต้องเลื่อนเปิดโครงการไปเป็นไตรมาสที่ 1 ปี 2561 จากกำหนดการเดิมคือปลายปี 2560 เนื่องจากต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาผังเมืองและใบอนุญาตใหม่จากรัฐบาลท้องถิ่นอีกประมาณ 6 เดือน

“เรายังคงพื้นที่เท่าเดิมประมาณ 36,000 ไร่ ไม่ได้ลด เพียงปรับผังใหม่ของเฟส 1 ถึงจะเลื่อนเปิดช้าไปกว่ากำหนดเล็กน้อย แต่ทำให้นักลงทุนได้ใช้พื้นที่ที่ดีที่สุด เพราะที่นี่จะสร้างเป็นสวนอุตสาหกรรมไฮเทค สถาบันทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา นิทรรศการ รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์”

ส่วนโครงการอีก 2 แห่ง คือ อมตะซิตี้เบียนหัว จังหวัดดองไน พื้นที่ประมาณ 4,375 ไร่ มียอดขายเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ และได้รับอานิสงส์จากบริษัทซัมซุง ประเทศเกาหลี ที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ จึงมีกลุ่มที่เป็นทั้งซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ครบทั้งคลัสเตอร์ในสายการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ เข้าไปลงทุนในนิคมจำนวนมาก ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง เกาหลีกลายเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว

นอกจากนี้ SAAB AB บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอากาศยานและนวัตกรรมอากาศยาน จากประเทศสวีเดน ได้แสดงความสนใจจะลงทุนในนิคมที่เวียดนามเช่นกัน โดยจะไปหารือแผนกันอีกครั้งหลังจากที่ SAAB AB ลงทุนสเต็ปแรกที่ไทยไปแล้วระยะหนึ่ง

ส่วนโครงการอมตะซิตี้ลองถั่น พื้นที่รวม 3 โครงการ ประมาณ 8,031.25 ไร่นั้น ซึ่งกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมไฮเทค 2,562.5 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาเตรียมเปิดขายที่ดินในปีนี้ และมีบางส่วนของโครงการอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต

ล่าสุดนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Amata Aerospace City กับบริษัท SAAB AB เพื่อพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ และเมืองอากาศยาน” ในนิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ที่จะเริ่มลงทุนทั้งผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ศูนย์อบรมนักบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยานทุกประเภทภายในปี 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม แม่งานหลักผลักดันให้เกิดและลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)