ลีโอโกลบอลสู้วิกฤตโควิด อัพเกรดบริการโลจิสติกส์

ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์

โควิด-19 ฉุดปริมาณการขนส่งลดลง ต้นทุนสูงขึ้น “ลีโอ โกลบอลฯ” รายได้หด 25-30% ปรับกลยุทธ์เพิ่มบริการใหม่ขนส่ง-กระจายสินค้าครบวงจรดึงระบบไอทีเสริม

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลกนานมากกว่า 30 ปี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2563 ส่งผลกระทบให้ระบบขนส่ง โดยเฉพาะทางอากาศลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับการปิดประเทศทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ การเดินทางของนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบให้การขนส่งสินค้าทางอากาศมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการโลจิสติกส์รายได้ลดลงมากถึง 50-70% ขณะที่ค่าบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าจากราคาปกติ

“ทิศทางปรับค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัจจัยของการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ระบบขนส่งทางอากาศลดลง ค่าบริการขนส่งสินค้าทางอากาศสูง 3-5 เท่าจากราคาปกติ โดยราคาค่าให้บริการก็เพิ่มขึ้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเส้นทางการบินว่าเป็นเส้นทางเอเชียหรือยุโรป โดยสินค้าที่ใช้บริการขนส่งทางอากาศส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง”

“เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้บริการการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้น ส่วนการขนส่งทางอากาศคาดว่ากว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขนส่งสินค้า การเดินทาง คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจากนี้หลังปัญหาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น”

ในส่วนของการขนส่งทางทะเลภายหลังจากมีการคลายล็อกดาวน์มากขึ้นทำให้ระบบการสั่งซื้อและขนส่งสินค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีกลับมามากขึ้น ตามความต้องการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคในหลายประเทศ แต่ถือว่ายังกลับมา 10-15% ยังไม่เต็ม 100% คาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะมีการทยอยปรับอัตราการเดินเรือเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถยอมรับได้ แต่ทางผู้ประกอบการต้องวางแผนการขนส่งและโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับต้นทุนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ในส่วนรายได้จากการให้บริการโลจิสติกส์ของบริษัทลดลงเพียง 25-30% ซึ่งถือว่าดีกว่าภาพรวม เป็นผลมาจากบริษัทขยายธุรกิจหลายด้าน และมีบริการครบวงจรทั้งเรื่องการขนส่งทางทะเล ทางอากาศ การให้บริการขนส่งผ่านแดนและข้ามแดน (cross border) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีบริการศูนย์กระจายสินค้าจึงทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยยังคงเป้าหมายรายได้ในปี 2563 ไว้ในระดับเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมาประมาณ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนการให้บริการของบริษัท 65% เป็นบริการขนส่งทางทะเล อีก 25% เป็นบริการขนส่งทางอากาศ และ 10% เป็นบริการขนส่งผ่านแดน ศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาของโควิด-19ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ทั้งการขยายช่องทางการให้บริการและรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศ cross border เพื่อบริการส่งสินค้าครบวงจรไปยังประเทศที่ 3 ได้อย่างสะดวกแล้ว ทางบริษัทยังจะเพิ่มบริการใหม่ SIM ที่จะเปิดรับสินค้าของผู้ประกอบการที่ต้องการขนส่ง ฝากเก็บ และกระจายสินค้าหรือนำสินค้าไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน การพัฒนาระบบเทคโนโลยี (IT) โดยการนำแพลตฟอร์มใหม่มาให้บริการกับลูกค้าเพื่อความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

“บริการใหม่แบบครบวงจร ได้นำร่องเปิดบริการในประเทศแรก คือ เมียนมา เมื่อ 5 ปีก่อน อนาคตจะขยายไปยังอินโดนีเซีย และเวียดนาม ภายในระยะ 5 ปีจากนี้เชื่อว่าจะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับบริษัท เนื่องจากมีคู่ค้าในระบบโลจิสติกส์ที่กระจายอยู่ทั่วไปที่จะคอยให้บริการอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยังมีพันธมิตรที่จะคอยให้บริการอยู่ทั่วโลก”