เกษตรกร-ผู้ส่งออกร้องเฉลิมชัย ขอทบทวนมติแบน “พาราควอต”

เกษตรกรขณะฉีดยาสารเคมี
INDRANIL MUKHERJEE / AFP

วอนทบทวนแบนพาราควอต หวั่นหลุดเบอร์ 1 แชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานกว่า 7,000 ล้านบาท ขอบอร์ดวัตถุอันตรายยึดมติ 23 พฤษภาคม 2561 ให้จำกัดการใช้ดีกว่าแบน

นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวานกล่าวว่า ไทยส่งออกข้าวโพดหวานมามากกว่า 20 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่าส่งออกมากกว่า 7,956ล้านบาทต่อปีไปยังตลาดหลัก อาทิประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) สามารถส่งออกได้มากไม่ต่ำกว่า 532,370 ตันต่อปี ซึ่งในแต่ละปีไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานและตรวจพบพาราควอตตกค้าง รวมทั้งคู่ค้าไม่เคยตีกลับข้าวโพดที่นำเข้าจากไทยแม้แต่ฝักเดียว เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรสามารถควบคุมการใช้สารเคมีอย่างรัดกุมมาตลอด แต่หากรัฐบาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอย่างถาวรจะส่งผลให้ต้นทุนการปลูกสูงขึ้น

“ปัจจุบันไทยปลูกข้าวโพดหวาน5 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก7 ล้านไร่ เกษตรกรยังต้องการสารพาราควอต และหากใช้ตามคำแนะนำอย่างเหมาะสมจะดีกว่าแบน”

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัยกล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบหลังจากการแบนพาราควอตส่งผลให้เกษตรกรต้นทุนสูงขึ้น หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น บางส่วนเลิกทำเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรประสบปัญหาอาจเกิดการเลิกจ้างงาน สินค้าผิดกฎหมายลักลอบผสมสารเคมีอ้างเป็นสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจสอบ ควบคุมสารชีวภัณฑ์

“เกษตรกรได้นำแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำและสารทางเลือกต่าง ๆ ไปใช้แต่วัชพืชไม่ตาย ผลผลิตเสียหาย ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อทบทวนอย่างเป็นธรรมใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งขอให้นำมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่จำกัดการใช้สารพาราควอตแทน”


ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทราบข้อเสนอและเตรียมส่งหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว