เทียบฟอร์มบัดเจตโฮเต็ล ลุ้น “ใคร” มาวินเข้าตา ปตท.

เมื่อดันธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ฮอตฮิตติดตลาดมียอดขายต่อปีมากกว่า 100 ล้านแก้วไปแล้ว ล่าสุดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เตรียมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด หรือ budget hotel ในสถานีบริการน้ำมันต่อไป เพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างคัดเลือกพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มาช่วยเสริมทีมและตอบโจทย์

ธุรกิจใหม่นี้ของ ปตท.ให้ได้มากที่สุด โดยคอนเซ็ปต์ธุรกิจโรงแรมของ ปตท.นั้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เดินทางไกล รวมไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางหลายจังหวัด และยังจะช่วยกระตุ้นยอดขายร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันอีกด้วย ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้เรียกผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจโรงแรมประหยัดเพื่อเข้ามาหารือถึงแนวทางความร่วมมือ และคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถสรุปได้ว่าจะเป็นพันธมิตรรายใด

บีทู-ฮอป อิน ฟอร์มดี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจกลุ่มผู้พัฒนาโรงแรมราคาประหยัดที่พอจะมีคุณสมบัติในการเป็นพันธมิตรกับ ปตท.แล้ว พบว่า ประกอบไปด้วย 4 รายหลัก ๆ คือ 1)โรงแรมบีทู (B2) ปัจจุบันมีสาขารวม 31 แห่งภายใต้กลุ่มบริษัท จาวลาเชียงใหม่ กรุ๊ป จำกัด

2)โรงแรมฮอป อิน ปัจจุบันมีรวม 26 แห่ง ภายใต้บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด 3)โรงแรมฟอร์จูน ดี ภายใต้บริษัท ซีพี แลนด์ ในปัจจุบันเริ่มขยายไปแล้ว 1 แห่ง

และ 4)โรงแรมเซ็นทารา ที่เตรียมจะเปิดตัวโรงแรมประหยัดแบรนด์ใหม่ในเร็ว ๆ นี้ จากเดิมที่เคยดำเนินการเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งในแวดวงผู้ค้าน้ำมันแทน ปตท. หรือดีลเลอร์ วิเคราะห์ว่า ถ้าพิจารณาบนพื้นฐานคอนเซ็ปต์ที่ ปตท.ต้องการแล้วมองว่า รูปแบบของโรงแรมบีทู และโรงแรมฮอป อิน มีความเป็นไปได้มากที่สุด มีประสบการณ์จริงในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดจริง มีสาขานำร่องหลายแห่ง และที่สำคัญมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจนอีกด้วย

โดยทั้ง 2 ราย คือ โรงแรมบีทู และโรงแรมฮอป อิน ได้มีการวิเคราะห์การลงทุนที่มีความคล้ายคลึงกันคือ แต่ละสาขาจะต้องมีห้องพักรวม 70 ห้อง ภายใต้ราคาเข้าพักที่ 690 บาท/ห้อง เมื่อลองประเมินจะมีผู้เข้าพักโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 80 หรือ 56 ห้อง จะมีเงินไหลเข้าอยู่ที่ 38,000/วัน จะมีรายได้อยู่ที่ 1.1 ล้านบาท/เดือน หรือจะมีรายได้อยู่ที่ 17 ล้านบาท/ปี ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

คือ ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาต่าง ๆ แล้วจะมีรายได้จริง ๆ ประมาณ 8.3 ล้านบาท การลงทุนเริ่มต้นที่ 40 ล้านบาท และจะใช้เวลาคืนทุนได้ภายใน 5 ปีเท่านั้น ทั้งนี้สำหรับบริษัท จาวลาเชียงใหม่ กรุ๊ป จำกัด ถือเป็นนักลงทุนในภูมิภาคที่เตรียมจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกรณีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรพัฒนาโรงแรมร่วมกับ ปตท.จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้ราคาหุ้น พร้อมทั้งยังได้เงินจากการระดมทุนมาพัฒนาธุรกิจโรงแรมได้ต่อเนื่องอีกด้วย ส่วนโรงแรมฮอป อิน ถ้ามองในเรื่องของคอนเซ็ปต์และภาพลักษณ์ของโรงแรมถือว่าตรงตามที่ ปตท.ต้องการ

ในส่วนของโรงแรมฟอร์จูน ดี ของบริษัทซีพีแลนด์นั้น มองว่า ปตท.อาจจะไม่ต้องการให้การลงทุนกระจุกตัวอยู่ที่พันธมิตรเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพราะเดิมก็มีความร่วมมือส่วนของธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่แล้ว ในขณะที่โรงแรมเซ็นทารา ถือเป็นน้องใหม่ในวงการธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด จากเดิมที่ดำเนินการเพียงโรงแรมขนาดใหญ่เท่านั้น ถ้ามองในเรื่องความเชี่ยวชาญที่ ปตท.ต้องการ อาจจะยังไม่ถึง

“ทำโรงแรมในปั๊มไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ฉะนั้น ปตท.จะต้องหาพันธมิตรที่เก่งและเชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการ จะมาลองผิดลองถูกไม่ได้ เพราะโรงแรมแต่ละแห่งใช้เงินลงทุนสูง ต้องเข้มข้น

กันตั้งแต่เลือกทำเล และคาดว่าจะมีรายได้ที่ดี ที่สำคัญต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจโรงแรมยังมีเรื่องของโลว์ซีซั่น และไฮซีซั่น ที่ต้องวางแผนหรือทำการตลาดให้ดี เพราะถ้ามีคนเข้าพักน้อยกว่า 80% มันก็จะอยู่ยากสำหรับธุรกิจโรงแรม”

ดีลเลอร์ลุยทำ รร.นำหน้า

ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจในบางพื้นที่ พบว่าดีลเลอร์ของ ปตท.ได้ลงทุนทำธุรกิจโรงแรมไปก่อนแล้ว เช่น ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยบริษัท ปตท.เอ.บี.ปิโตรเลียม สาขา 1 ภายใต้ชื่อโรงแรม X2 Vibe (ครอสทูไวบ์) ซึ่งเป็นโรงแรม “พรีเมี่ยม” เพื่อรองรับลูกค้าที่เดินทางมาท่องเที่ยว และชมกีฬาฟุตบอลเป็นหลัก ดำเนินการมาแล้วรวม 2 ปี และค่อนข้างประสบความสำเร็จ

อีกด้วย นอกจากนี้ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างเช่น จังหวัดลพบุรี พบว่ามีดีลเลอร์ ปตท.ทำธุรกิจโรงแรมประหยัด คือโรงแรม สบาย สบาย นอกจากนี้ยังมีโรงแรมประหยัดในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.อื่น ๆ เช่น ในจังหวัดพังงา สุราษฎฺร์ธานี และในพื้นที่ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย

ในการผลักดันธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดในสถานีบริการน้ำมันนั้น ดีลเลอร์ ปตท.ระบุว่า ในกรณีที่ ปตท.จะกำหนดให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนจะต้องมีความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ คือ 1)ราคาห้องพัก/คืน 2)กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน 3)ความเป็นไปได้ในการขายห้องพักเฉลี่ยทั้งปีคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนห้องทั้งหมด 4)เงินลงทุนในแต่ละแห่งเป็นอย่างไร 5)ระยะเวลาการคืนทุนภายในกี่ปี 6)ต้นทุนการบริหารและค่าใช้จ่ายต่อห้องเป็นอย่างไร

7) ตั้งเป้ากำไรสุทธิต่อห้องไว้ที่เท่าไร และจะแบ่งส่วนของกำไรระหว่าง ปตท.และดีลเลอร์อย่างไร

ทั้งนี้ ปตท.วางเป้าหมายที่จะเปิดโรงแรมราคาประหยัดให้ครบ 50 แห่ง ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน และคาดว่าในแต่ละสาขาจะมีจะห้องพักประมาณ 30-80 ห้อง

ปตท.จ่อสรุปเลือกใคร พ.ย.นี้

ด้าน นายอรรพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.จะพิจารณาพันธมิตรที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาธุรกิจโรงแรมประหยัดร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากที่มีข้อเสนอเข้ามา 3 ราย จะคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 รายเท่านั้น โดย ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดในส่วนของ 5 สาขาแรก ส่วนที่เหลือจะให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุน หรือ ปตท.อาจจะร่วมทุนกับดีลเลอร์ก็ได้

ทั้งนี้ในส่วนข้อกังวลที่ว่า การพัฒนาโรงแรมในสถานีบริการน้ำมันมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยหรือขัดกับกฎหมายที่ระบุถึงระยะห่างหรือไม่นั้น ปตท.ยืนยันว่าโรงแรมจะมีระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนด และบางแห่งจะอยู่พื้นที่ใกล้เคียง ไม่ได้ตั้งอยู่ภายใต้รั้วเดียวกัน แต่จะจัดระเบียบให้มีรั้วและทางเดินที่เชื่อมกับสถานีบริการเพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้าที่เข้าพักโรงแรม เข้ามาใช้บริการร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อในสถานบริการน้ำมันได้ด้วย