เมียนมาล็อกดาวน์ “ยะไข่” เร่งกระตุ้น เศรษฐกิจสู้โควิดก่อนเลือกตั้ง

ประชาชนชาวเมียร์มาร์ในช่วงโควิด
REUTERS/Stringer

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เมียนมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงมากทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ถึง 341 คน และเสียชีวิต 6 คน ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากตรวจยืนยันผู้ป่วยคนแรกไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 รัฐบาลจึงได้ขยายขอบเขตการล็อคดาวน์จากที่กำหนดเฉพาะเมืองซิตตเว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ไปยัง 4 เมืองในรัฐยะไข่ คือ เมืองเจ้าผิว เมืองอัน เมืองตองก๊ก และเมืองตั่งตแว

ล็อกดาวน์รัฐยะไข่

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เมียนมา ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีการปิดล็อกดาวน์รัฐยะไข่ จากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 11 ราย ทำให้ทางรัฐบาลมีการประกาศปิดโรงเรียนและให้เปิดร้านค้าเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเท่านั้น

ส่วนด่านชายแดนยังคงปิดไม่ให้มีการข้ามแดนแต่อย่างใด ให้มีการข้ามแดนได้เฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในเรื่องของมาตรการดูแลเรื่องของการแพร่ระบาดในเมียนมายังมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดต่อไป

เศรษฐกิจคึกคักรับเลือกตั้งใหญ่

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจในเมียนมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันจะครบวาระ 5 ปี ทำให้ล่าสุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ฯพณฯ ท่าน U Aung Htoo รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ เมียนมา ได้ออกมาพูดถึงนโยบายการส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการค้าออนไลน์มากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากปัญหาของโควิด-19 เมียนมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียน กระแสเงินสดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย

“จากการเข้าสู่การเลือกตั้ง และผลกระทบโควิด-19 ทำให้รัฐบาลปัจจุบันออกนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนักต้องรอข้อมูลชัดเจนจากทางกระทรวงพาณิชย์เมียนมาซึ่งคาดว่าจะออกมาก่อนการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก คือ การซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากต้องการเข้ามาช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ เพื่อทำให้จีดีพีเติบโตหลังโควิด-19 และเพื่อเป็นการดึงดูดให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ รัฐบาลเมียนมาจะเข้ามาอำนวยความสะดวกในเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี เร็วขึ้น จัดระเบียบการค้า และส่งเสริมเทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อกระตุ้นการค้าให้มากขึ้น”

เงินสะพัด-ทุนนอกทะลัก

ปัจจัยสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงโอกาสการลงทุนในเมียนมา พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 องค์กรระดับโลกได้ส่งงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเมียนมาในการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก อีกทั้งยังพบว่าหลายประเทศให้ความสนใจเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น อินเดีย เข้ามาแย่งพื้นที่จีน เพื่อเข้ามาลงทุนในเมียนมา ทำให้ประเมินว่าจะมีกระแสเงินสดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเมียนมาได้เป็นอย่างดี นั่นจะเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยควรจะเร่งหาช่องทางโอกาสในการค้า การลงทุน ในเมียนมาให้มากขึ้น เพราะสินค้าไทยยังเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคของเมียนมาได้เป็นอย่างดี

โดยปัจจุบันประเทศที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาอันดับ 1 ยังคงเป็นประเทศจีน โดยล่าสุดทางจีนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับรัฐบาลเมียนมา 33 ฉบับ และไม่นาน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศเมียนมา Mr.Maruyama Ichiro ก็เข้าไปลงนามบันทึกข้อตกลงปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เมียนมาด้วยเช่นกัน โดยเป้าหมายเพื่อนำไปพัฒนานครย่างกุ้ง และรัฐอื่น ๆ

ความตกลงดังกล่าวนั้นไม่เพียงมีจีนและญี่ปุ่น แต่ยังมีอินเดียซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลง 15 ฉบับ ครอบคลุมถึงความร่วมมือหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน ความมั่นคง วัฒนธรรม คมนาคม ระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือต่าง ๆ นั้นจะทำให้เกิดการลงทุน การประกอบธุรกิจ และส่งผลดีต่อรายได้ และกำลังซื้อของชาวเมียนมา

แนะโอกาสค้าออนไลน์

“ไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับ 2 โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยที่เข้ามาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ยังมีหลายช่องทางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าไปลงทุนได้ เพราะยังมีโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะการค้าบริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งรัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญในการค้าออนไลน์มากขึ้น”

ทั้งนี้ แต่เดิมที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคล สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำหนดสามารถถือหุ้น 100% กลุ่มธุรกิจบริการ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง ที่เปิดให้เข้ามาประกอบธุรกิจ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ คาดว่าจะมีการปรับเงื่อนไขบางประเด็นเพื่อการดึงดูดการลงทุนต่อไป

นอกจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่เข้าไปสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังมีเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่ให้ความสนใจลงทุน จึงมั่นใจได้ว่าในอนาคตความต้องการสินค้าจะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันว่าทำอย่างไรที่จะเข้ามาทำตลาด และดึงส่วนแบ่งตลาดและรายได้เพิ่มขึ้นได้ อาจต้องส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่ที่มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาล หากดำเนินการได้เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าทางการค้าระหว่างไทย-เมียนมาเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดีในอนาคต