“ปฏิรูปพลังงาน” โจทย์ใหม่ PDP 2022

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานโลก ไทยต้องวางอนาคตอุตสาหกรรมพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูป 5 big rock งานเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาให้สำเร็จภายในปี 2565เพื่อสร้างความแข็งแกร่งภาคพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ”

ภาคพลังงานอ่วมโควิด

นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงให้สอดรับกับการใช้พลังงาน หลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้จีดีพีของไทยลดลงถึง 12% ความต้องการใช้พลังงานภาพรวมลดลงทุกเซ็กเตอร์

โดยการลงทุนไฟฟ้าชะลอ 14%ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟสูงขึ้น น้ำมันลดลง 12.6% น้ำมันเครื่องบินหดตัว 50% แอลพีจีหดตัว 11.6% คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเร็วที่สุดกลางปีหน้า ดังนั้น โจทย์ยากคือคอขวดที่อยู่ระหว่างรอการลงทุน ต้องหาทางปลดล็อก”การวางแผน” ดึงความเชื่อมั่นไม่ให้เกิดการย้ายฐานผลิตสำคัญที่สุด

ผุด 5 แผนปฏิรูปใน 3 ปี

แผนหลัก 5 ระยะ big rock ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ประกอบด้วยกิจกรรมการปฏิรูปที่ 1.การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ด้านการกำกับกิจการพลังงาน 2.การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NationalEnergy Information Center : NEIC)3.การใช้มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ และ 5.ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ

“คณะกรรมการปฏิรูปฯจะนำความเห็นนี้ไปปรับปรุง ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ฉบับที่ 2 big rock ให้สมบูรณ์ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน พ.ย. 2563 แล้วจึงรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้”

“ส่วนอุปสรรคด้านการเมืองจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ พลังงานไทยต้องเดินไปทิศทางนี้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ผ่านสภาพัฒน์ และหากผ่าน ครม.แล้ว จะกำหนดเป็นกฎหมาย ซึ่ง ม.157 ระบุชัดว่าหากไม่ลงมือทำถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

แจ้งเกิดพีดีพีเวอร์ชั่น 2022

นายคุรุจิต นาครทรรพ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า มาตรการ ESCO ภาครัฐ ข้อ 3 ช่วยให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นที่ยอมรับของเอกชน อาคารภาครัฐควรใช้ระบบดังกล่าวด้วย เนื่องจากแต่ละปีมีรายจ่ายค่าไฟฟ้า 4.7 หมื่นล้านบาท หากประหยัดได้ 10% คิดเป็น 5 พันล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะเป็นเศรษฐกิจใหม่ (new S-curve) ทำสินค้าเดิมให้มีมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรปิโตรเลียมเช่น เม็ดพลาสติก ไบโอฟูเอล น้ำมันปาล์มเรียกว่า ปัดฝุ่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโฉมใหม่ รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ เร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ กรณีกัมพูชา

นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เห็นว่า พืชพลังงานจากเกษตร แต่ละปีมีกองทุนมาอุดหนุนส่วนต่างนั้นต้องยุติให้ได้ ภายใน 3 ปี หากมีความจำเป็นต้องอุดหนุนจากปัจจัยอะไรก็เเล้วแต่ ต้องไปขออนุมัติเฉพาะ ดังนั้น ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้เงินจากกองทุน ต้องหันมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แข่งขันได้ เพื่อสร้างความยั่งยืน

นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) รอบต่อไปจะตรงกับปี 2565 หรือแผน PDP 2022 จะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รวมถึงเทรนด์ด้านพลังงานของโลกด้วย

ช่วงปลายเวทีเสวนาสะท้อนทิศทางพลังงานโลกสู่พลังงานสะอาดว่าเป็นเรื่องที่ควรผลักดัน แต่อุปสรรคมักเกิดจากขาดการบูรณาการของหน่วยงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานการเปิดเสรีลดการผูกขาด ซึ่งทางคณะกรรมการปฏิรูปฯอยู่ในฐานะแอดไวเซอร์เท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับ”การตัดสินใจ” ของรัฐบาล