“มาตรการคนละครึ่ง” ดันเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้าน เสริมดัชนีความเชื่อมั่นดีต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นยังดีต่อเนื่องอยู่ระดับ 51.0 ผลมาจากมาตรการเยียวยาโควิด-19 ของภาครัฐ ขณะที่ มาตรการ “คนละครึ่ง” มั่นใจมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 90,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า อยู่ที่ 51.0 จาก 50.1 ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐช่วยผลกระทบจากโควิด-19

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.6 จาก 42.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.1 จาก 48.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 60.4 จาก 59.3

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 5 หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต, ความกังวลสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาพัฒน์ ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -7.3% ถึง -7.8% จากเดิม -5% ถึง -6%, รัฐบาลขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

นายธนวรรธ์ กล่าวถึงมาตรการ “คนละครึ่ง” ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชน 15 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท ว่า แม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากประเมินเบื้องต้น มาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และหมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

โดยจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 1-1.5% โดยเงินจะหมุนเวียนไปในผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ซึ่งจะทำมห้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสจะหดตัวน้อยลงที่ติดลบ 7.5% จากก่อนหน้าที่คาดจะติดลบ 8% ถึงลบ 10%

แต่ทั้งนี้จะต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาอีกครั้งว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาไม่ติดลบหรืออยู่ในระดับ 0% ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ส่วนไตรมาส 2 ของปี 2564 เศรษฐกิจน่าจะบวกได้เล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปีนี้