ประเด็นนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐยังไม่จบ! “พาณิชย์” ชี้ไทยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน CODEX

ประเด็นนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐยังไม่จบ!!! “พาณิชย์” ชี้ไทยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน CODEX ลุ้นท่าที 2 หน่วยงานหลัก ‘กษ.’ถือกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์-‘อย.’ ถือประกาศมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าไทยถูกกดดันจากประเทศผู้ส่งออกในประเด็นการเปิดนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงว่า ไทยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นประเทศการค้า และสมาชิกขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) และองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศภายใต้การทำงานร่วมกันขององค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) มีสมาชิก 187 ประเทศ รวมทั้งไทย ทำหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้มีมติเมื่อเดือนก.ค. 2555 กำหนดค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดงในสุกรตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ เนื้อสุกรทั้ง 4 ชนิด ที่โคเด็กซ์กำหนดปริมาณสารเร่งเนื้อแดงตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ได้แก่ กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต ทำให้ประเทศผู้ส่งออก เช่น สหรัฐ และแคนาดาผลักดันให้ไทยเร่งดำเนินการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง และให้เปิดให้มีการนำเข้าได้ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่โคเด็กซ์ กำหนด โดยขอให้ไทยเร่งปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับมติโคเด็กซ์ตั้งแต่ปี 2555 โดยเร็ว

“มติของโคเด็กซ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไทยต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นประเทศการค้า และเป็นสมาชิกของโคเด็กซ์ หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้ ขณะเดียวกันเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนยกระดับการผลิตของไทย ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในสากล” นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการนำเข้าหมูปลอดสาร โดยหากจะนำเข้าต้องมาขออนุญาตดำเนินกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยก่อนจึงจะสามารถนำเข้าได้ ส่วนการนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างจากสหรัฐ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้นำเข้า เพราะจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางในดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและผู้บริโภค


รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การแก้ไขกฎหมายมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 2 หน่วยงาน คือ กรมปศุสัตว์ รับผิดชอบพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์พ.ศ. 2558 ที่ห้ามผู้เลี้ยงผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงหมูด้วย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ โดยห้ามมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสัตว์ และหมูในประเทศอย่างเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท