ชาวสวนร้องกมธ.วิสามัญ รื้อโครงสร้าง “ราคาปาล์ม”

สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มฯ ร้อง กมธ.วุฒิสภา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำราคาปาล์มภาคกลางราคาถูกกว่าภาคใต้ กก.ละ 1 บาท ทั้งที่ราคาซีพีโอขั้นกลางน้ำ-ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปลายน้ำเท่ากัน จี้ปฏิรูปทั้งระบบ ด้าน กนป.จ้าง มสธ.ศึกษาโครงสร้างราคาใหม่พร้อมวางยุทธศาสตร์ระยะยาว คาดได้ข้อสรุป ธ.ค.นี้

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 11 กันยายน 2563 ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันภาคกลาง 4 จังหวัด คือ จ.สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก และปทุมธานี เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีนายวีระกร คำประกอบ เป็นประธาน เพื่อขอให้นำเรื่องการรับซื้อปาล์มที่ไม่เป็นธรรมเข้าสู่การพิจารณาประกอบการแก้ไขปัญหาทั้งระบบด้วย

โดยสถานการณ์ที่ผ่านมาเกษตรกรภาคกลางไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจำหน่ายผลปาล์มทลายให้กับโรงสกัดได้ราคาต่ำกว่าเกษตรกรในภาคใต้ เฉลี่ยตั้งแต่ กก.ละ 60 สตางค์ไปจนถึงสูงสุด กก.ละ 1 บาท จึงเป็นเหตุให้ต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิกกลุ่มปาล์มน้ำมันภาคกลาง ในนามของสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เพื่อจะไปยื่นหนังสือในครั้งนี้

“เรื่องความไม่เป็นธรรมในการรับซื้อปาล์มของกลุ่มโรงสกัด ในแต่ละจังหวัดราคามันต่างกันมากมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ภาคใต้รับซื้อแพงกว่าภาคกลาง เช่น ราคาต้นทุนเกษตรกรรวมกับค่าขนส่งถึง ณ หน้าโรงงานสำหรับภาคกลางจะอยู่ที่ กก.ละ 4 บาท ส่วนราคาเกษตรกรภาคใต้จะมีราคา กก.ละ 4.60-4.80 บาท ต่างกันตั้งแต่60-80 สตางค์ และบางครั้งต่างกันถึง กก.ละ 1 บาท เราตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดราคารับซื้อผลปาล์มต่างกัน ทั้งที่เมื่อนำไปสกัดแล้วราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)ที่ออกมาเท่ากัน แต่เดิมทุกคนจะบอกว่าราคาต่างกันเพราะเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่างกันแต่ตอนนี้รัฐกำหนดให้รับซื้อที่ 18%เท่ากัน และให้ห้ามซื้อปาล์มดิบให้ซื้อปาล์มสุก แต่ราคาก็ยังต่างกัน”

ข้อเสนอของสมาพันธ์ ต้องการให้เกษตรกรทุกพื้นที่ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายผลปาล์มให้ได้ราคาเท่ากัน เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกปาล์มจำนวนมากในมาเลเซียที่รัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแล ซึ่งเดิมการที่รัฐกำหนดราคาควบคุมน้ำมันปาล์มขวดอยู่ที่ขวดละ 37 บาท ก็น่าจะคำนวณกลับมาได้ว่าต้นทุนการรับซื้อผลปาล์มและราคาน้ำมันปาล์มดิบควรออกมาเท่าไร แต่เหตุใดจึงไม่เท่ากัน ประเด็นนี้เคยเสนอไปทางกรมการค้าภายในว่าให้กำหนดราคาควบคุมทั้งหมด เพื่อสะท้อนราคาที่แท้จริง ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้ทางกรมการค้าภายในศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างราคา โดยให้ระยะเวลาศึกษา 45 วัน

“ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการปลูกปาล์มมากที่สุด6 ล้านไร่ เทียบกับภาคกลางซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่หมื่นไร่ แต่หากราคาผลปาล์มไม่เท่ากัน แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องสูญเสียงบประมาณในการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น และเกษตรกรแต่ละที่ก็จะได้รับสิทธิไม่เท่ากัน ทั้งที่ปลูกพืชเดียวกัน”

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ได้รับการต่ออายุโครงการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. 2563 จากเดิมโครงการได้สิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. 2563 ทำให้ชาวสวนปาล์มจะยังคงได้รับการชดเชยรายได้เพิ่มอีก 3 เดือน โดยจะจ่ายชดเชยในวันที่ 16 ก.ย., 16 ต.ค. และ16 พ.ย. 2563 ทำให้ชาวสวนปาล์มยังคงมีหลักประกันไว้รองรับ หากราคาผลปาล์มตกต่ำกว่าราคาที่ประกันไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท ก็จะได้รับการชดเชยทันที

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ กนป.ได้มอบให้กรมการค้าภายในจัดจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษาเรื่องแนวทางการปรับโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยการศึกษาดังกล่าวจะครอบคลุมประเด็นแนวทางการกำหนดราคาปาล์มตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่เป็นที่ยอมรับให้กับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษา 180 วัน หรือภายในเดือนธันวาคมนี้

แหล่งข่าวจาก กนป.กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐ-เอกชน ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือสำหรับการกำหนดราคาปาล์ม ว่าต้นทุนการผลิตแต่ละขั้นตอนที่แท้จริงเป็นเท่าไร ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวโยงไปถึงการกำหนดมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาปาล์ม เช่น ราคาประกันปาล์ม กก.ละ 4 บาท ว่ามีการคำนวณจากต้นทุนเท่าไร รวมถึงการกำหนดนโยบายเข้าไปแทรกแซงตลาด CPO ด้วยการกระตุ้นดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อนำไปผลิตพลังงานรูปแบบต่าง ๆเช่น การผลิตไฟฟ้า หรือการทำไบโอดีเซล ซึ่งควรต้องดูว่าโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงเป็นเท่าไร การกำหนดราคารับซื้อเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งแนวทางการเก็บข้อมูลนั้นจะต้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลที่แท้จริง พร้อมทั้งจัดการสัมมนากลุ่มย่อย และศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพออกมาถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวดังกล่าว