พาณิชย์ลุยต่องานแฟร์ GI ปั๊มรายได้ชุมชนฝ่าโควิด

พาณิชย์ไม่หวั่นโควิด เดินหน้าจัดงาน GI Market ต่อเนื่องปี 2564 เปิดช่องทางผู้ผลิตทำตลาด เพิ่มรายได้สู่ท้องถิ่น หลังผลการจัดงาน 11 ครั้ง คว้ายอดขาย 60 ล้านบาท

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการส่งเสริมด้านการตลาดและการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสำหรับสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ (GI) ในปี 2564 ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงเดินหน้าผลักดัน โดยเฉพาะการจัดงาน GI Market ซึ่งคาดว่าจะจัดงานแสดงสินค้า GI Market ในช่วงต้นปี 2564 มีเป้าหมายจะผลักดันให้สินค้าจีไอเป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้เกษตรกร-ชุมชนในระดับพรีเมี่ยมที่จำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจและนิยมในการสั่งซื้อสินค้าในงาน GI Market 2019 ที่ผ่านมา อาทิ ปลาทูแม่กลอง, ส้มโอนครชัยศรี, ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน, ทุเรียนป่าละอู และหอมแดงศรีสะเกษ ดังนั้น ในปี 2564 นอกจากการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอและส่งเสริมด้านการตลาดในประเทศแล้ว แต่ยังผลักดันเพื่อการส่งออกและยังคัดเลือกสินค้าจีไอที่มีคุณภาพเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร หรือ THAIFEX-World of Food ASIA อีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดงานส่งเสริมด้านการตลาด GI Market มีการจัดแสดงสินค้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยเริ่มจัดแสดงสินค้าตั้งแต่ปี 2558 สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มในการซื้อขายภายในงานให้กับเกษตรกรและชุมชนไปแล้วกว่า 60 ล้านบาท การจัดงานในแต่ละครั้งนั้นเกิดการซื้อ-ขายภายในงานกว่า 5 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจึงเป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์สินค้าจีไอให้กับผู้บริโภคและช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้ขายสินค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นช่องทาง

ด้านการตลาดที่จะช่วยให้เกษตรกรขยายตลาดสินค้าจีไอสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยในปี 2563 กรมจัดงาน GI Market 2563 รวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง ซึ่งการจัดงาน GI Market แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการได้ถึง 5.4 ล้านบาท

“ที่่ผ่านมากรมได้จัดงานแสดงสินค้า GI Market ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ ในระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2563 และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 วันที่ 27 ก.ค.-2 ส.ค. 2563 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมครั้งละ 60 ราย หรือรวม 120 ราย งานได้รับความสนใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก สินค้าจีไอที่ได้รับตราจีไอจากกรมสามารถยืนยันด้านคุณภาพได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เกิดมูลค่าการซื้อ-ขายภายในงานไม่ต่ำกว่า 200-500 ล้านบาท”

ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ทั่วประเทศ รวม 128 รายการ สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการและชุมชนถึง 5,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนสินค้าไว้ทั้งสิ้น 3,000 ราย

สำหรับปีงบประมาณ 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะใช้งบประมาณ 33 ล้านบาทในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ โดยขณะนี้มีสินค้าจีไอที่เสนอรายชื่อเข้ามาให้กรมพิจารณา 160 รายการ เป้าหมายจะพิจารณาขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอให้ได้ปีละ 18 รายการ