เอกชนกัดฟันจ้างงานเพิ่ม รัฐนำร่องบรรจุ 3 หมื่นอัตรา

ราชการ-รัฐวิสาหกิจหัวหอกเด้งรับแก้วิกฤตตกงาน ก.พ.รวบอัตรา ขรก.ตั้งใหม่รอบรรจุทันที 2 หมื่นตำแหน่ง ทดแทนเกษียณอีก 8.9 พันจัดสอบภาค ก. 27 ก.ย.นี้ บัณฑิตจบใหม่แห่สมัครทะลุ 5 แสนคน “ปตท.-กฟผ.-เอ็กโก กรุ๊ป” โดดแจมบิ๊กเอกชนยังแบ่งรับแบ่งสู้ เผยครึ่งปีแรก “ทรู-เจเอ็มที-เซ็นทรัล เรสตอรองส์” เปิดรับคนมากสุด สภาอุตฯ ดึง 1.1 หมื่นบริษัทหนุน คาดช่วยจ้างงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีประกาศปิดโรงงาน เลิกจ้าง ปลดคนงานเป็นระลอก แต่ผู้ประกอบการอีกบางส่วนยังคงเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต พร้อมขยายกิจการและเปิดรับสมัครพนักงาน เป็นช่วงเดียวกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลที่ขอความร่วมมือแก้วิกฤตแรงงาน ทั้งการว่างงานของบัณฑิตใหม่ คนว่างงานและการถูกเลิกจ้าง โดยทยอยประกาศรับสมัคร

นโยบายรัฐช่วยจ่ายเงินเดือน

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การแก้ปัญหาว่างงานเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยได้มอบหมายให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น ดำเนินการเร่งด่วน ภายใต้รูปแบบรัฐบาลครึ่งหนึ่ง นายจ้างครึ่งหนึ่ง มีเป้าหมายจ้างกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2562-2563 ที่ยังว่างงาน ระดับระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าจ้างให้ 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7,500 บาท/คน/เดือน จะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคมนี้

5 แสนคนแห่สอบ ก.พ.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐ ทุกกระทรวง กรม จะสั่งการและกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากและให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เร่งดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 1 กันยายน 2563 รวม 2 มาตรการ ได้แก่มาตรการแรก สรรหาและเลือกบุคคลเข้ารับราชการ โดยสอบแข่งขันบรรจุเข้ารับราชการ ส่วนของ ก.พ.มีแผนจัดสอบวัดความรู้ความสามารถ ก่อนส่งชื่อผู้สอบผ่านให้ส่วนราชการต่าง ๆ จัดสอบแข่งขันประจำตำแหน่ง

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2563 ก.พ.ประกาศรับสมัครบุคคล และมีผู้สมัครสอบ 500,000 คน จะจัดสอบวันที่ 27 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 15 แห่งและจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 18-22 กันยายนนี้ ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 9 แห่ง ผู้สมัครสอบรวม 21,723 คน รวมผู้สมัครสอบภาค ก. ทั้งสิ้น 521,723 คน จะประกาศผลสอบวันที่ 4 ธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนจัดสอบเพิ่มเติม สำหรับผู้สมัครสอบภาค ก. ซึ่งยังไม่สามารถชำระเงินค่าสมัครได้ เนื่องจากที่นั่งสอบเต็ม จำนวน 95,610 คน ประมาณเดือนมกราคม 2564

รอบรรจุ 2 หมื่นตำแหน่ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังการสอบภาค ก. เดือนกันยายนนี้แล้ว ส่วนราชการระดับกระทรวง กรม ที่ต้องการบุคลากร หรือมีอัตราว่าง สามารถจัดสอบภาค ข. และภาค ค. เพื่อบรรจุเข้ารับการสอบคัดเลือกดังกล่าวได้ทั้งยังมีตำแหน่งว่างรองรับการจ้างงานอีกคือ อัตราข้าราชการตั้งใหม่ ที่ส่วนราชการได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2562-2563 แต่ยังไม่ได้บรรจุรวม 20,000 อัตรา และมีอัตราว่างจากการเกษียณอายุของข้าราชการปีนี้อีก 8,900 อัตรา

จ้างระยะสั้น 2 ปี

มาตรการที่สอง ก.พ.จัดทำแนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยระบบพนักงานราชการ เป็นการเพิ่มอัตราการจ้างงานระยะสั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้รูปแบบบริหารจัดการของระบบราชการเป็นกลไกขับเคลื่อน โดยไม่มีผลผูกพันกับการจ้างงานพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังปกติ ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีในปีงบประมาณ 2564-2565 กลุ่มเป้าหมายเป็นระดับปริญญา หรือต่ำกว่าปริญญา ซึ่งอยู่ระหว่างหางานทำ ต้องการเปลี่ยนงาน หรือถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด ตามแนวทางที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เห็นชอบ

เอ็กโกฯรับพนักงาน 1,600 อัตรา

สำหรับความเคลื่อนไหวของธุรกิจรายใหญ่ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ล่าสุด กลุ่ม บมจ.ปตท.จะเปิดรับสมัครพนักงานสนองนโยบายรัฐบาล 25,000 คน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับสมัคร 10,000 ตำแหน่ง

ขณะที่นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ประมาณการไว้ว่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงาน 1,500-1,600 อัตรา แบ่งออกเป็น การจ้างเพิ่มพนักงานประจำ และพนักงานชั่วคราว สำหรับการจ้างพนักงานประจำ แบ่งออกเป็น นักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี 50 อัตรา และคนตกงานทั่วไป 150 อัตรา โดยจะกระจายไปหลายตำแหน่งในทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานดูแลสวน ถึงระดับพนักงานสำนักงาน และอื่น ๆ ตามความสามารถของผู้สมัคร

นอกจากนั้นจะเป็นการจ้างงานแบบพนักงานชั่วคราว, งานตามระยะสัญญา และซับคอนแทร็กต์อีก 1,300 อัตรา

คปภ.กัดฟันจ้าง 65 อัตรา

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อช่วยลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว คปภ.จึงเปิดรับสมัครผู้จบระดับปริญญาตรี สามารถสอบเข้าทำงานที่สำนักงาน คปภ.ได้ ทั้งส่วนของพนักงานประจำและลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และมีการจ้างงานรวมแล้ว 65 อัตรา

ก.ล.ต.เปิด 100 ตำแหน่ง

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.จัดทำ “โครงการเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่สู่ตลาดทุน” ซึ่งสอดรับกับมาตรการดังกล่าว โดยจะจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 100 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมดของ ก.ล.ต. และมีระยะการจ้างงาน 1 ปี

ส.อ.ท.ดึง 1.1 หมื่นบริษัทช่วย

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก 11,000 บริษัท จาก 45 กลุ่ม ว่ามีความต้องการแรงงานบัณฑิตจบใหม่ตามโครงการลดครึ่งราคาแรงงาน 2.6 แสนตำแหน่ง ของรัฐบาล

“โครงการนี้ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปีก็จริง แต่อาจมีบางอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นไพรออริตี้แรกที่ต้องการ ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานว่างงาน 2.5-3 ล้านตำแหน่ง โดยปัจจุบันมีผู้ที่ตกงานแล้ว 1-2 ล้านคน”

อินทัชรอดูเงื่อนไข

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช กล่าวว่า ขณะนี้เอไอเอสรับทราบถึงนโยบายดังกล่าวแล้ว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตำแหน่งงานนั้น ๆ และคุณสมบัติที่เหมาะสม

สำหรับตลาดโทรคมนาคมยังเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือในระยะเวลา 1 ปีจากภาครัฐจะช่วยเหลือ ถือเป็นสิ่งที่ดีกว่าปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเดินไปอย่างโดดเดี่ยว ทั้งองค์กรขนาดกลางหรือขนาดย่อม

SCG ขอดูรายละเอียด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มีมติออกมาก่อนว่าต้องการให้ SCG ช่วยอะไรและอย่างไร ขอเวลาดูรายละเอียดก่อน แต่หากมีการจ้างงานจริง ๆ ก็คงไม่เยอะมาก

ด้านนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ด้านการบริหารกลาง SCG กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ SCG มีโครงการฝึกอาชีพให้กับนักเรียนอาชีวะที่กำลังศึกษาในระดับ ปวช.-ปวส.อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีอยู่หลาย 1,000 คน และในระหว่างที่ฝึกอาชีพ ทาง SCG ก็มีเบี้ยเลี้ยงให้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทาง SCG ไม่ได้รับนักศึกษาอาชีวะที่ผ่านการอบรมใหม่ทุกคน เพราะ SCG เองมีสัดส่วนรับพนักงานใหม่ค่อนข้างน้อย เฉลี่ยปีละ 100 คน ซึ่งจะรับนักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรีขึ้นไป ดังนั้น การฝึกอาชีพเป็นการช่วยยกระดับด้านทักษะ เพื่อต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคตมากกว่า

“แนวคิดดังกล่าวของ ศบศ. SCG เห็นด้วย แต่เราจ้างพนักงานใหม่ค่อนข้างน้อยประมาณ 100-200 คนเท่านั้น” นายยุทธนากล่าว

ทรู-ไทยเบฟฯอ้าแขนรับ

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่าช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนมาก องค์กรจึงต้องปรับรูปแบบทำงานให้ทันต่อสถานการณ์ และคนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเอง และพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการทำงานในยุคนี้ ซึ่งแบ่งข้อมูลเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนระบาดหนัก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ (มีนาคม-เมษายน) และช่วงคลายล็อกดาวน์ (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์มีสายงานเดียวที่เปิดรับคนเพิ่มขึ้นคือ แพทย์, เภสัชกร, สาธารณสุข เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนช่วงคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดรับ freelance เพิ่มขึ้น 36.4%

โดยมี 5 องค์กรที่มีอัตราการเปิดรับสมัครงานมากที่สุด อันดับหนึ่ง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อันดับสอง บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส อันดับสาม บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อันดับสี่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และอันดับห้า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

โดย 5 องค์กรที่มีคนสมัครงานมากที่สุด อันดับหนึ่ง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ อันดับสอง บมจ.สยามแม็คโคร อันดับสาม บมจ.ซีพี ออลล์ อันดับสี่ กลุ่มบริษัทเครือเบทาโกร จำกัด และอันดับห้า บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)

บริษัทเครื่องดื่มแบ่งรับแบ่งสู้

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังไม่ได้รับทราบข้อมูลหรือการติดต่อจากภาครัฐในเรื่องดังกล่าว และมองว่านโยบายรัฐอาจมองเฉพาะเรื่องการกระตุ้นการจ้างงานเพียงด้านเดียว ไม่ได้มองครบทุกมิติ อย่างที่ทราบกัน โควิด-19 มีผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างหนัก สะท้อนจากการปิดโรงงาน การเลิกจ้าง ทำให้ต้องรัดเข็มขัด คุมค่าใช้จ่ายเพื่อประคองสถานการณ์ ดังนั้นการรับพนักงานใหม่เป็นจำนวนมาก ๆ จึงเป็นเรื่องยาก ประกอบกับปัจจุบันสภาพการจ้างงานโดยเฉพาะผู้ที่จบใหม่ ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการผู้มีประสบการณ์ และผู้ที่มีทักษะ และทำงานได้จริงมากกว่า ขณะเดียวกันยังพบว่าตอนนี้ คนที่จบใหม่เรียกเงินเดือนค่อนข้างสูง ขึ้นต่ำอยู่ที่ 30,000 บาท