“สุพันธุ์” กางโรดแมป ส.อ.ท. นำทัพหมื่นบริษัทฝ่าโควิด

สัมภาษณ์พิเศษ

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกจนมีจำนวนผู้ป่วยสะสม 29 ล้านคน เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 เป็นความท้าทายต่อทุกภาคส่วนในการฝ่ากระแสเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปให้ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงวิชั่นและเป้าหมายการทำงานในโอกาสรับตำแหน่งต่อเนื่องวาระที่ 2 ระหว่างปี 2561-2563 เพื่อประคับประคอง 45 อุตสาหกรรม 9 สถาบัน รวมสมาชิก 11,000 บริษัท

ความท้าทายโควิด

วาระนี้จะแตกต่างจากวาระอื่น เพราะเป็นช่วงโควิด-19 ที่ภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างลำบาก ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้มาตั้งแต่ต้มยำกุ้ง แนวโน้มมันจะลำบากมากกว่าต้มยำกุ้ง เพราะต้มยำกุ้งหมวดเอ และสถาบันการเงินที่มีปัญหา ครั้งนี้สมาชิกเรามีปัญหากันค่อนข้างเยอะ

“ในวาระที่แล้วเราเน้นเรื่อง industry transformation เพราะเทคโนโลยีมาดิสรัปต์หลาย ๆ ส่วน เราต้องสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง แต่ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ จึงเปลี่ยน

นโยบายของอุตสาหกรรมเราเป็น serviceorganization เพื่อดูแลสมาชิกให้อยู่รอดให้ได้ ตั้งโจทย์ว่าสมาชิกมีเรื่องอะไรที่เราต้องให้ความช่วยเหลือ แล้วก็ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับเรื่องนั้น”

จัดผังโครงสร้าง

เช่นตอนนี้เราตั้ง คุณชาติชาย พานิชชีวะ รองประธาน ส.อ.ท. ดูแลด้านอีคอมเมิร์ซ เป้าหมายเป็นแพลตฟอร์ม B2B ที่ดีที่สุดในประเทศที่เป็นไปได้ หรือสายงานเรื่องไฟแนนซ์ เดิมก็ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง แต่เรามองว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญจึงตั้ง SMI ที่ดูแลเอสเอ็มอี ให้มาดูแลเรื่องการเงิน ภาษี หรือแบงกิ้งสมาชิกว่าตรงไหนที่สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้เป็น “โค้ชชิ่ง” ว่ากู้เงินต้องใช้หลักฐานอะไร วางเรื่องแผนภาษีทั้งหลาย

เข้มข้นเรื่องแรงงาน

F.D.I Academy ปกติมีอีเวนต์อบรมปีละ 200 อีเวนต์ได้ มาวันนี้ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป หน่วยงานนี้จะสร้างมาเพื่อลิงก์กับสถาบันการศึกษาทั้งหมด เพื่อจะให้ทำหลักสูตรของเราเอง

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าคนที่เข้ามาอบรมกับเราต้องได้งานชัวร์ 100% ฉะนั้น การกำหนดหลักสูตรที่เข้ากับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อปรับปรุงทักษะ upskill-reskill ให้สมาชิกทั้งหลาย นอกจากนี้จะมีการประเมินดูแลในรายละเอียด จากเดิมที่ไม่มีประเมินว่าอบรมไปแล้วได้ประสิทธิภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

3 เรื่องไม่ทิ้ง

เรื่องอินโนเวชั่น เดิม ส.อ.ท.มีสำนักงานนวัตกรรมอยู่แล้ว เพราะว่าเรื่องอินโนเวชั่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสมาชิก ทุกประเทศแข่งขันได้ก็ด้วยอินโนเวชั่นใหม่

เช่นเดียวกับเรื่องประสิทธิภาพการผลิต หรือ efficiency จะมีหลายหน่วยงาน คือ โลจิสติกส์ พลังงาน ICT database productivity ซึ่ง ส.อ.ท.ปรับตัวเองไป แทนที่จะช่วยเป็นชอต ๆ ก็จะบูรณาการช่วยสมาชิกให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น และสุดท้าย environment เรามีเรื่องกรีนอินดัสทรี และอีโคแฟกตอรี่อยู่แล้วก็จะทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะตอบรับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น เรามีหน่วยงาน “สมาชิกสัมพันธ์” ซึ่งจะเป็น one stop serviceเพื่อดูแลสมาชิกสภา ซึ่งวันนี้มี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม มี 9 สถาบัน มี 74 จังหวัด

นายสุพันธุ์ย้ำว่า เป้าหมายเดิม 9 สถาบัน ส.อ.ท.จะเน้นเรื่องรายได้ แต่วันนี้จะเปลี่ยนนโยบายว่า เราเน้นเรื่องจำนวนสมาชิกและการช่วยเหลือสมาชิก ส่วนรายได้เป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้รายได้ของเรามาจากค่าธรรมเนียม การบริการบาร์โค้ด การทำโปรเจ็กต์ภาครัฐ

“เราจะพยายามทำโปรเจ็กต์ภาครัฐให้น้อยที่สุด เพราะนั่นรัฐจะบอกเราว่าให้เราทำอะไร แต่เรื่องนี้เราต้องบอกรัฐว่า รัฐควรทำอะไร รีเวิร์สกลับไปยังรัฐ โดยเราต้องทำให้แข็งแรงเพื่อผลักดันโอกาสต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นเราแจ้งกรรมการทราบในการทำเวิร์กช็อประดับผู้บริหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อบูรณาการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”.