จ้างเกษตรกรเฉียดแสนคน ลุย 1 ตำบล 1 กลุ่มทฤษฎีใหม่

เกษตรกร
REUTERS/Chaiwat Subprasom/File Photo

“อนันต์ สุวรรณรัตน์” ปลัดกระทรวงเกษตรฯสปีดก่อนเกษียณของบฯเฉียดหมื่นล้านบาทจ้างเเรงงานเกษตร9.6 หมื่นคน ภายใต้งบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ ต่อยอดรายได้ฐานราก 3-5 ปี

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการจ้างแรงงาน ซึ่งกระทรวงได้เสนอโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กรอบวงเงิน 9,805 ล้านบาท ภายใต้งบฯวงเงินกู้4 แสนล้านบาทของรัฐบาล

ล่าสุดได้ขยายเวลารับสมัครรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 14-22 กันยายน 2563 เพราะที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครเกษตรกรไประหว่างวันที่ 27 ส.ค.-2 ก.ย. 2563 แต่มีปัญหาคุณสมบัติเกษตรกรในบางประเด็น จึงทำให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการไม่ได้ โดยขณะนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 48,699 ราย จากเป้าหมาย 96,216 ราย

โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป การจ้างงาน 25,460 ราย จากเป้าหมาย 32,072 ราย (พี่เลี้ยงเกษตรกรตำบลละ8 ราย) และเกษตรกร 23,239 ราย จากเป้า 64,144 ราย (คิดเป็นเกษตรกร ตำบลละ 16 ราย) ครอบคลุมพื้นที่ 4,900 ตำบล 75 จังหวัด

“ในวิกฤตถือเป็นโอกาสปฏิรูปภาคเกษตร การจ้างงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแต่จุดประสงค์หลักที่ผมตั้งใจมาตลอดก่อนเกษียณ คือ ทุกคนจะใช้วิกฤตให้เกิดโอกาส ต้องมีรายได้จากการทำเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีพี่เลี้ยงทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ไม่ใช่เเค่ช่วงโควิดอย่างน้อยต้องมีรายได้ระยะยาว 3-5 ปี”

สำหรับการรับสมัครรอบใหม่ได้ปรับแก้คุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะ 1.กรณีอายุเกิน 60 ปี ขอให้อยู่ในดุลพินิจของคณะทำงานระดับอำเภอ โดยคำนึงถึงศักยภาพ ประโยชน์ของโครงการ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเกษตรกร อาทิ แปลงใหญ่

2.จากเดิมผู้สมัครต้องมีที่พักอาศัยในพื้นที่ที่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการ หรือเพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตรใพื้นที่ที่ใช้สมัครเข้าร่วมโครงการ หรือมีการสร้างที่พักภายหลังประกาศรายชื่อเข้าร่วมโครงการภายใน 30 วัน และ 3.ปรับแก้คุณสมบัติจากเดิม เจ้าของเอกสารสิทธิต้องยินยอมให้กระทรวงใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือเป็นจุดเรียนรู้เกษตรทฤษฎี เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี


นายอนันต์กล่าวถึงความคืบหน้าในฐานะที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธานเกษตรอีอีซีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอ โดยเป้าหมายสำคัญมุ่งหวังว่าจะเป็นโอกาสพัฒนาภาคการเกษตร โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง) รายคลัสเตอร์ พร้อมทั้งตั้งเป้าให้ภาคตะวันออกเป็นฮับอีอีซี รวบรวมสินค้าเกษตรแปรรูป เชื่อมโยงอุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยวอย่างสมดุล ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย