“สุพัฒนพงษ์” รื้อโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดประมูลค่าไฟ-หวั่นกินรวบ

โรงไฟฟ้าชุมชน
photo : pixabay

“สุพัฒนพงษ์” รื้อใหญ่โรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้า 3 ปีรับซื้อไฟแค่ 200 MW เหตุไฟสำรองล้นเกิน เผยปรับเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ กำหนดโควตาเชื้อเพลิง-พืชพลังงาน พร้อมให้ประมูลแข่งราคาค่าไฟฟ้า กำหนดผลประโยชน์คืนชุมชน จากเดิมฟิกซ์เรต หวั่นรายใหญ่ “กินรวบ” ทั้งระบบ ก.พลังงานแจงไม่ล้มโครงการแน่

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ถูกผลักดันโดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กำลังถูกพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง หลังการเข้ารับตำแหน่งของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำแนวทางบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่ล้นเกินขนาดหนักอยู่ในขณะนี้ ให้สอดคล้องกับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ถูกลดไซซ์ลงจากเดิมที่จะรับซื้อไฟฟ้าถึง 1,933 เมกะวัตต์ (MW) เหลือเพียงประมาณ 200 MW เท่านั้น

แค่โครงการนำร่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังถูก “ลดขนาด” ลงกลายเป็นแค่ “โครงการนำร่อง” ขนาดกำลังผลิตเฟสแรกไม่เกิน 100 MW พร้อมกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่หมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน (feed-in tariff หรือ FIT) จากเดิมที่ใช้วิธี fix ราคาค่าไฟฟ้า (ประมาณ 5 บาท/หน่วย) เปลี่ยนมาเป็นการแข่งขันด้วยการ “เปิดประมูล” ราคาค่าไฟฟ้าและ fix ผลประโยชน์ที่เจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนจะให้แก่ชุมชนที่ตั้งของโรงไฟฟ้านั้น ๆ แทน โดยการกำหนดนโยบายให้ fix ผลประโยชน์ให้กับชุมชนแทนการ fix ค่าไฟฟ้า ทำให้ประเภทของเชื้อเพลิงชีวมวลที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าเปลี่ยนไปด้วย

จากเดิมที่จะต้องมีการทำสัญญา contract farming กับชุมชนทั้งพืชชีวมวลกับก๊าซชีวภาพ ก็จะกลายเป็นการกำหนด “โควตา” ประเภทของโรงไฟฟ้าชุมชนตามเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจจะทำโรงไฟฟ้าชุมชน การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์สำคัญที่ถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ถูกทำให้เข้าใจไปได้ว่า กระทรวงพลังงานในยุคของนายสุพัฒนพงษ์กำลัง “ทบทวน” โครงการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบเพื่อลดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่พุ่งขึ้นสูงเกินกว่า 40% แล้ว

“ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ฉบับปัจจุบันพบว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วง 10 ปีแรกของแผน (2561-2571) ขณะนี้ล้นเกินอยู่ 30-40% จากอัตรากำลังผลิตรวมทั้งประเทศ 50,300 MW หากกระทรวงพลังงานจะยังยืนยันที่จะทำโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังผลิตรวมอีก 1,933 MW ก็จะเป็นการสวนทางกับนโยบายที่ให้ลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลงให้อยู่ในระดับปกติ คือ 15-18%

ดังนั้น วิธีที่จะทำได้ก็คือการปรับลดจากจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจากโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ถูกปลดออกของ กฟผ. โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะต้องถูกเลื่อนหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าลงตามไปด้วย เนื่องจากคงเป็นเรื่องยากที่จะไปบังคับให้ผู้ประกอบการไฟฟ้าเอกชนทั้ง IPP และ SPP เลื่อนการจ่ายไฟเข้าระบบเพราะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันไปแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

วิสาหกิจชุมชนโวย

การลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนลงเหลือแค่ไม่เกิน 200 MW ในอีก 36 เดือนข้างหน้าได้ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกไปทั่วทั้งในหมู่วิสาหกิจชุมชนกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการตามนโยบายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ โดยมีวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ “ลงทุน” ในการเตรียมการเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน การรวบรวมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และการตั้งบริษัทวิสาหกิจชุมชนเป็นจำนวนร้อย ๆ บริษัทในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ล่าสุด ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ผู้ประสานงานและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 10 แห่งในจังหวัดอุดรธานี-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-จันทบุรี ได้ทำหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีสาระสำคัญอยู่ที่ขอให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังผลิต 700 MW ต่อไป (quick win 100 MW ตามประกาศของ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก VSPP และอีก 600 MW สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล-ชีวภาพ-ไฮบริด)

“ชาววิสาหกิจชุมชนได้แต่เฝ้ารอความหวัง เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง จากการปลูกพืชพลังงานทดแทน โดยได้ส่วนแบ่งจากการถือหุ้น 10% ในโรงไฟฟ้า และได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าจำนวน 2 ล้านบาทต่อ MW หรือ 120 ล้านบาทภายใน 20 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 3 MW” ตามเนื้อหาที่ระบุไว้ในหนังสือถึง รมต.พลังงาน

หวั่นรายใหญ่ฮุบ

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน กล่าวถึงความชัดเจนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนว่า แม้ยังคงมีอยู่แต่จำนวนเมกะวัตต์ที่จะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบนั้น “น้อยมาก” มีความเป็นไปได้ว่าประเภทของเชื้อเพลิงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าจะถูกจำกัดลงเหลือเพียงไม่กี่ประเภท เท่ากับ “จำกัด” การเข้าถึงโครงการของกลุ่มผู้ประกอบการพลังงานทดแทน

“ตอนนี้ต้องรอหลักเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงพลังงาน แต่ที่แน่ ๆ ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็น SPP หรือ VSPP คงเข้าไปถึงโครงการใหม่แน่ เพราะเงื่อนไขมันเปลี่ยน มีการประมูล fix รายได้ให้กับชุมชน แต่ไม่ fix ค่าไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างไปจากโครงการสมัยรัฐมนตรีสนธิรัตน์มาก สุดท้ายมีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อย่าง IPP ที่สนใจโครงการนี้ด้วยแม้จำนวนเมกะวัตต์จะน้อยโรงละ 3-5 MWแต่ในเมื่ออีก 10 ปีข้างหน้านี้แทบจะไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นในประเทศเพราะไฟสำรองล้น พวกรายใหญ่คงจะเข้ามาแข่งขันในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างน้อยในพอร์ตหุ้นก็จะเกิดความเคลื่อนไหวว่าบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้าระบบ” แหล่งข่าวกล่าว

พลังงานยันไม่ล้มโครงการ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ไม่ได้มีนโยบายที่จะยกเลิกพลังงานชุมชน (และอาจหมายรวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชน) แต่อย่างใด จะเห็นได้จากตามแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี (ปี 2563-2565) ของกระทรวง มีเรื่องการสร้างความยั่งยืนและเข้าถึงประชาชนเป็นหนึ่งในแผน เพื่อให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีสัดส่วนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานในประเทศมาใช้ ส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการสร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม ผ่านการส่งเสริมการใช้ การลงทุนด้านพลังงานทดแทนซึ่งรวมถึงโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) และชีวมวลรวมด้วย และการอนุรักษ์พลังงานในชุมชน พร้อมเสริมสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับส่วนท้องถิ่น ชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน


“ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะมีการเดินหน้าโครงการนำร่อง โดยมีการทบทวนหลักเกณฑ์ของโครงการเพื่อให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับเกษตรกรและชุมชนอย่างแท้จริง มีแผนงานโครงการสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนด้านการส่งเสริมชุมชนที่ชัดเจน เช่น แผนงานโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง สถานีพลังงานชุมชน โครงการเสริมสมรรถนะโครงการเตาชีวมวล โครงการโซลาร์สูบน้ำ โครงการโซลาร์อบแห้ง และกรอบทิศทางของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะเน้นโครงการพลังงานชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างอาชีพด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในชุมชน”