สกนธ์ วรัญญูวัฒนา 2 ปี บอร์ดแข่งขันฯ ส่งไม้ต่อ 30 เคส

สัมภาษณ์พิเศษ

หากยังจำได้การบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 พลิกโฉมกฎหมายแข่งขันเดิมปี 2542 ซึ่งเปรียบเสมือนเสือกระดาษไปอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะการปลดล็อกสำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ นอกชายคากรมการค้าภายใน และการปรับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) แทนการแต่งตั้ง และให้ทำงานแบบเต็มเวลา ช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้องค์กรคล่องตัวปลอดการเมือง

ล่าสุดคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มาจากกระบวนการสรรหา 7 คน จะครบวาระการทำงาน 2 ปีในวันที่ 29 ธ.ค. 2563 นี้ ซึ่งกรรมการ 3 ใน 7 ท่านต้องจับสลาก “ออก” ในเดือนตุลาคมนี้เพื่อเปิดทางให้มีการสรรหากรรมการใหม่ หรือออกแล้วจะมาลงสมัครใหม่เพื่อต่อวาระก็ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ฉายภาพสรุปการทำงานที่ผ่านมา

2 ปีในการทำงาน

ถ้าให้ประเมินตัวเองว่าได้ทำตามความตั้งใจไว้ในระดับผ่านแต่ยังไม่พอใจ คือ อย่างน้อยได้ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่บังคับอย่างเดียว เราต้องเข้าใจตลาด เข้าใจพฤติกรรม เป้าหมายไม่ใช่จำนวนคดีที่เยอะ เพราะถ้าเยอะแสดงว่าผู้ประกอบการไม่เข้าใจ ฉะนั้น ต้องส่งเสริมให้ความรู้เขาเยอะ ๆ ออกกฎกติกาให้รายใหญ่ทำตามกฎหมายหรือเรื่องพฤติกรรมที่ส่อหลายเรื่องมาก คนไม่รู้สึกตัวเพราะยังไม่เห็นผลต่อตัวเอง ถ้าอยู่ต่อต้องทำให้มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

“ไกด์ไลน์” จัดระเบียบธุรกิจ

ที่ผ่านมาเราได้ตั้งหน่วยงาน business intelligence unit เพื่อวิเคราะห์ดูความอ่อนไหวธุรกิจในบ้านเรา ธุรกิจไหนควรต้องเริ่มไปกำกับดูแลออกกฎไกด์ไลน์แนวปฏิบัติเพื่อดูแลแต่ละธุรกิจ โดยในกระบวนการมีประมาณ 10 ธุรกิจ เช่น ธุรกิจออนไลน์ OTA OTP แพลตฟอร์ม ก่อนหน้านี้ได้ออกไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก และล้งไปแล้ว อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ความเห็นอีก 1 ฉบับ คือ ไกด์ไลน์ค้าออนไลน์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

ตามมาตรา 57 กำหนดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องมีแนวทางให้แต่ละธุรกิจทราบว่าเป็นอย่างไร เช่น แฟรนไชซีที่ทำสัญญาแล้วถูกบังคับให้ซื้อวัตถุดิบจากเจ้าของแฟรนไชส์ ตอนแรก 20 รายการแล้ว ภายหลังเพิ่มเป็น 30 รายการ ทำไมเพิ่มขึ้นเป็นเท่านี้ หรือสินค้าที่หาซื้อได้ทั่วไปในธุรกิจแฟรนไชส์ไม่น่าจะถูกบังคับให้ซื้อ เช่น หลอดกาแฟ ทิสชู แก้วน้ำที่ไม่มีแบรนด์ เป็นต้น หากเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ระดับสากลจะมีบังคับทุกอย่าง แต่ของประเทศไทยบางอย่างบังคับบางอย่างไม่บังคับ ทำให้แฟรนไชซีรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบจึงมาร้องหรือธุรกิจออนไลน์ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่มีผู้ประกอบการที่มาจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเรา พอเข้ามาแล้ว

เราก็ต้องพยายามออกกฎกติกาที่สามารถบังคับใช้ได้ และอยากส่งเสริมให้คนไทยทำธุรกิจแบบนี้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าออกไปแล้วจำกัดการขยายธุรกิจไม่ได้ถ้าเราออกไกด์ไลน์ที่เข้มเกินไปเราไม่อยากโดน อ้างว่าเพราะไกด์ไลน์แบบนี้ทำให้ไม่อยากลงทุนธุรกิจ เป็นต้น

ผลหลังประกาศ 3 ไกด์ไลน์

ในส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์มีการร้องต่อคณะกรรมการ 2-3 เคส ส่วนล้งมี 4-5 เคส ซึ่งธุรกิจนี้เผอิญว่าพอมีวิกฤตโควิดล้งทั้งของคนไทยคนจีนก็หยุดกิจการ โดยเฉพาะล้งจีนกลับประเทศไม่ทำตามสัญญาเลยทำให้มีมาร้อง และล้งไทยที่มีพฤติกรรมขัดกับกฎหมาย เช่น การกดราคา การคัดเกรดต้องดูรายละเอียดอีกที กำลังจะแจ้งความแล้วผิด 57 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่ มูลค่ายอดขายไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไม่เกิน 50% มีพฤติกรรมไปกดราคาอ้างเรื่องของคุณภาพ พยายามหักราคา

“จะเห็นชัดว่าการออกไกด์ไลน์ได้ผล ทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเข้าใจกฎหมายว่าแนวปฏิบัติที่ควรจะเป็นคืออะไร พอเราทำเรื่องพวกนี้ไปแล้วจะขยายไปเรื่อย ๆ แต่ไม่อยากทำแบบพร่ำเพรื่อ เราพยายามเลือกธุรกิจที่มีอิมแพ็กต์ ออกไกด์ไลน์แล้วต้องบังคับใช้ได้จริง เราไม่ต้องการออกกฎระเบียบมาเพื่อกีดกันการขยายธุรกิจ หรือปิดกั้นการพัฒนา”

สเต็ปต่อไป กขค.หลังจากนี้ สิ่งที่เราต้องทำแน่ ๆ เรื่องแรก คือ การสร้างฐานข้อมูลผลประกอบการเกี่ยวกับการทำธุรกิจทั้งหมด ไม่ใช่ทำเองแต่ต้องไปจับมือกับหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสมาคมเอสเอ็มอี

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องไกด์ไลน์ที่กล่าวไปแล้ว โดยจากข้อมูลจากฐานข้อมูลนำมาสู่ไกด์ไลน์ ภาคธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจที่เร่งด่วนที่จำเป็นต้องไปออกไกด์ไลน์ ออกอนุบัญญัติต่าง ๆ ในการกำกับดูแล

ประโยชน์ “ฐานข้อมูล”

ฐานข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงเหล่านี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างเข้มข้น ทำให้มองว่าข้อมูลลักษณะปีต่อปีเริ่มไม่พอ ธุรกิจเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น ข้อมูลต้องมีความละเอียด และมีความเคลื่อนไหวที่เราสามารถสังเกตได้ โดยเบสิกจะดูผลประกอบการ ความเข้มแข็ง การกระจุกตัวของการทำธุรกิจมีรายใหญ่-รายเล็กเท่าไร ดูทางเลือกผู้บริโภคว่าธุรกิจนั้น ๆ มีมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญจะดูธุรกิจเซ็กเตอร์นั้น ราคาถูกมาร์กอัพมากน้อยแค่ไหน การมาร์กอัพราคาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ว่าถ้าทำมากก็จะสะท้อนเรื่องอำนาจเหนือตลาด หรือความสามารถในการผูกขาดของธุรกิจนั้นอาจจะสูง

วางงบประมาณฐานข้อมูล

ไม่ต้องใช้งบประมาณ เราร่วมมือกับพันธมิตรไปแชร์ข้อมูลกับเขา งบประมาณที่ใช้จริง ๆ คือ งบประมาณภายในที่จะต้องมีโปรแกรมเมอร์ มีดาต้าอนาไลติก เราพยายามที่จะไม่มาเก็บข้อมูลอยู่กับเรา เหตุและผลคือ มันจะเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน ข้อมูลมันมีหน่วยงานอื่นจัดเก็บอยู่แล้ว เราแค่ไปขอแชร์หรือขอใช้เพื่อดึงข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วส่งกลับไปให้เขา เอาไปต่อยอดได้ เราใช้สำหรับมอนิเตอร์ภายใน กำหนดเริ่มต้นดำเนินการ

ตอนนี้เราเริ่มต้นแล้ว เพราะเอาเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาก่อนหน้านี้ มาเริ่มลงทุนแล้ว ภาพรวมงบประมาณของเราปี 2563 ได้ประมาณ 200 ล้านบาท ปี 2564 ได้งบฯลดลงเหลือ 100 กว่าล้านบาทจากการแพร่ระบาดโควิด แต่ว่าปี 2565 เตรียมของบประมาณสำหรับการลงทุนมากขึ้น เพราะต้องเริ่มต้นมาลงทุนระบบสารสนเทศที่ไม่ใช่ไปลงทุนเรื่องฮาร์ดแวร์อะไรมาก แต่จะเน้นลงทุนเรื่องซอฟต์แวร์และเรื่องฮิวแมนแวร์

เสริม “คน” รับคดีใหม่

ในปีที่ผ่านมาเร่งบรรจุเกือบเต็มตามจำนวนกรอบเบื้องต้น 102 อัตรา แต่ต้องขยายให้ถึงอย่างน้อย 230 คนใน 1-2 ปีนี้ เพราะขณะนี้ถือว่างานโหลดมาก หากนับส่วนที่บรรจุจริง ๆ 80 คนตัดส่วนซัพพอร์ตออกไปเกือบครึ่งจะเหลือที่ดูแลเรื่องบังคับใช้กฎหมายเฉลี่ย 1 เคส มี 2 คนดูแล และแต่ละคนดูแลต้องไขว้ดูไม่ต่ำกว่า 3-4 เคส โหลดมาก ต่อให้เพิ่ม 1 เท่า เป็น 200 คน คนหนึ่งอาจเหลือ 2 เคส แต่ละคนต้องมีเวลา 90 วัน ให้เสร็จเหนื่อยมากเพราะยิ่งคนรู้จักประโยชน์ของกฎหมายจำนวนเคสก็จะมากขึ้น

“แต่ไม่ใช่จะเพิ่มคนเยอะ เราคิดว่าสำนักงานเราต้องสมาร์ท ต้องมีระบบไอทีภายใน จัดระบบการจัดการ เช่น กระบวนการขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียนต้องเอาข้อมูลทางวิชาการมาใช้ในการทำงาน ความสมาร์ทเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ คือสิ่งสำคัญ คนต้องมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ ”

เร่งเคลียร์ 30 คดีค้าง

ขณะนี้มี 30 เรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กที่ร้องเข้ามามีทั้งเรื่องการควบรวมพฤติกรรมแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้โดยเฉลี่ยจะมีเรื่องเข้ามา 3-4 เรื่องต่อเดือน ซึ่งไม่ว่าจะเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กก็ต้องถือปฏิบัติมาตรฐานเดียวกันหมด


“กฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่เหมือนกับกฎหมายเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มองเป็นขาวกับดำ การใช้กฎหมายต้องประกอบด้วยความเข้าใจทั้งเรื่องกฎหมาย ข้อบัญญัติ เช่น อำนาจเหนือตลาด พฤติกรรมลดการแข่งขัน การฮั้ว คืออะไร แต่ขณะเดียวกันต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาระบบธุรกิจไปด้วย เพราะอย่างโควิดนี่ชัดเจน จะเห็นว่ามีสินค้าจำเป็นต่อสุขภาพบางประเภทหายไปจากตลาด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่ามีดีมานด์และซัพพลาย เมื่อมีดีมานด์หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ราคาก็ต้องขึ้น ถ้าไม่เข้าใจโครงสร้างพฤติกรรมแบบนี้แล้วไปออกกฎระเบียบที่อาจไปส่งเสริมให้เกิดการลดการแข่งขันก็ได้ อย่างที่เห็นตัวอย่างว่าบางสินค้าหายไปเลย หลังใช้มาตรการ เป็นต้น”