ส.อ.ท.หวั่นอียูอ้างสิ่งแวดล้อมสกัดนำเข้าสินค้าไทย

ส.อ.ท.หวั่นอียูตั้งป้อมกีดกันทางการค้าสินค้าที่กระทบสิ่งแวดล้อมใน 2-3 ปีจี้รัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็น “กรีนโปรดักต์” Made in Thailand ด้านกฟผ.หนุนศึกษาต้นแบบจำลองกระบวนการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำร่อง “นนทบุรี-บุรีรัมย์” ขีดเส้น 15 เดือนวางระบบ หวังลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไทย 400,000 ตัน

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยต้องวางแผนผลิตสินค้าที่สามารถนำไปใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ เพราะในอีกภายใน 2-3 ปี หากไทยไม่ปรับตัวจะประสบกับการถูกกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป (อียู)ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นมานั้นกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้ามีส่วนผลกระทบจะถูกเก็บภาษีเพิ่มในอัตราที่มากขึ้น พร้อมกันนี้ ทางภาคเอกชนเสนอให้รัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย (Made in Thailand) ที่เป็นกรีนโปรดักต์มากขึ้น

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศถึง 400,000 ตัน/ปี ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีไม่ถึง 1% เท่านั้น ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องเร่งให้กฎหมายนี้

เกิดขึ้นภายใน 15 เดือน หรือช่วงเดือน ก.ย. 2564 และมีผลบังคับใช้ปลายปี 2564 เพราะขณะนี้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. 2563 นับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งหากทำได้ทั้ง 2 ส่วนจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ต้องจัดทำโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กั เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นส่วนประกอบในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึง

หน่วยงานต่าง ๆ และเอกชนอีกจำนวนมากโดยจะนำร่องใน 2 จังหวัด คือ นนทบุรี และบุรีรัมย์

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กล่าวว่า แบบจำลองที่ศึกษานี้จะเริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลว่า เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าสิ้นสุดอายุการใช้งานจะถูกส่งไปที่ศูนย์รวบรวมซากท้องถิ่น หรือเทศบาล จากนั้นระบบขนส่งโดยมีระบบไอทีเข้ามาช่วยในกระบวนการติดตาม เพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนหลุดรอดออกไประหว่างทาง และนำไปที่โรงคัดแยกที่กระจายอยู่ตามชุมชน หรือมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชน จนกระบวนการสุดท้าย คือ นำเข้าสู่โรงกำจัดซาก หรือโรงรีไซเคิล

“เหตุที่เลือกนนทบุรี เนื่องจากสามารถเป็นแบบจำลองชุมชนเมืองได้ดี มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายจำนวนมาก จึงจะเริ่มทำแบบทดลองกำจัดกับซาก 300 ชิ้นก่อน ขณะที่บุรีรัมย์สามารถเป็นแบบจำลองจังหวัดกลุ่มชนบท และมีการคัดแยกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ก่อนแล้ว เราจะได้รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเริ่มทำแบบทดลองกับซาก 100 ชิ้น”

นายยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จัดสรรงบฯวิจัยและพัฒนาจำนวน5 ล้านบาท จากงบฯทั้งหมด 1,300 ล้านบาทต่อปี สำหรับดำเนินโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่ ก.ย. 2563-พ.ย. 2564

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯจะครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น สำหรับแนวทางการจัดการขยะทั้ง 5 ประเภท จะกำหนดราคาค่ากำจัดซากขยะรวมอยู่ในราคาขายสินค้านั้น ๆ และมีการเก็บเข้ากองทุนโดยมีหน่วยงานขึ้นมาดูแล