กรมชลฯทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม.แล้ว หลังฝนตกต่อเนื่อง

แฟ้มภาพ

กรมชลประทาน ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรแล้ว ระดมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด เน้นช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำให้มากที่สุด

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากขึ้นจากแผนเดิม 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างยังคงมีฝนตกชุกกระจาย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมชลประทานจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนจนถึงอัตรา 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 12 ต.ค. 60 และจะคงการระบายน้ำในอัตรา 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.80-1.20 เมตร นั้น

จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าล่าสุด (10 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,528 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.97 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,188 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิมมีระดับสูงขึ้น ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าวให้มากที่สุด โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 474 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

ทั้งนี้ กรมชลประทานยังได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะโครงการฯที่มีพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดส่งเจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกระสอบทราย เข้าไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมแล้ว

ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจนถึงปัจจุบัน (10 ต.ค. 60) พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 387.40 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 500.27ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 887.67 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสักนั้น ภายหลังจากที่กรมชลประทานได้ปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (10 ต.ค. 60) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 878 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 91 ของความจุที่ระดับเก็บกัก คงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 82 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนของภาคกลาง


ล่าสุด (10 ต.ค. 60) พบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มากถึงวันละประมาณ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นอีก จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำมากขึ้นจากเดิมวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกิดความสมดุลของน้ำไหลเข้าอ่างฯกับปริมาณน้ำที่ระบาย พร้อมกันนี้ ได้ควบคุมปริมาณปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหกให้อยู่ในเกณฑ์ 550-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.20 – 0.30 เมตร ปัจจุบัน (10 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกลงสู่ด้านท้ายบริเวณ อ.ท่าเรือ ในเกณฑ์ 476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพื้นที่ตอนบนยังคงมีฝนตกชุก