กกพ. อัดงบกองทุนไฟฟ้า 2.8 พันล้าน ปั๊มเศรษฐกิจชุมชน

เสาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชน
Photo : pixabay

“กกพ.” หนุนรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหลังวิกฤตโควิด-19 เบาบาง อนุมัติเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 2.8 พันล้านบาท ลงชุมชน หลังมีมติ “ยกเครื่อง” เกณฑ์การใช้เงินกองทุนฯ เน้นกระจายอำนาจ เพิ่มพี่เลี้ยงรอบโรงไฟฟ้าชุมชน-อนุโลมบุคคลที่ 3 พิจารณางบปี 64 ได้ไม่เกินโครงการละ 3 แสน คาดกระตุ้นจ้างงาน 30,000 คน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ หรือเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) เป็นจำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท

โดยวางเป้าหมายในการหนุนเสริมมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และลดผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

นอกเหนือจากการเร่งอนุมัติโครงการเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ชุมชนโดยเร็วแล้ว สำนักงาน กกพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแล และบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ในหลายประเด็นเพื่อสร้างความคล่องตัว ยกระดับประสิทธิภาพการใช้เงิน กระจายอำนาจสร้างความโปร่งใส และลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาลงเพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกอัดฉีดผ่านชุมชนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนการทบทวนแนวปฏิบัติและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ของ กกพ. กำหนดจัดเป้าหมายและวิธีการได้ คือ เปลี่ยนหน่วยดำเนินการที่เป็นกลุ่มบุคคล 3 คน ให้อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันของคนเช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิ โดยวางเป้าหมายจะยกเลิกการดำเนินโครงการโดยกลุ่มบุคคล 3 คนให้หมดไปในปีงบประมาณ 2565

การสร้างและการกระจายการใช้เงินกองทุนให้มีมิติที่ชัดเจนตรงเป้าหมาย และเกิดความยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงขอบเขตการใช้เงิน และจัดกลุ่มใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นประกอบด้วยแผนงานหลัก 6 ด้าน ได้แก่

ด้านสาธารณสุขด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภคและด้านพลังงานชุมชน แต่ก็ยังมีแผนงานด้านที่ 7 ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ไว้รองรับโครงการชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามแผนงานหลัก

การกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจการพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการชุมชน ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบความซ้ำซ้อน และการพัฒนาในภาพรวมของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยราชการที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ ที่จะทำให้การพิจารณาโครงการมีความคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และไม่ต้องกลับมาสู่ชั้นของการพิจารณาจาก กกพ. ในส่วนกลางอีก

“กกพ.ได้นำเอาความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพิจารณา อาทิ การเพิ่มผู้แทนภาครัฐในแผนงานหลักเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) โดยคงสัดส่วนจำนวนกรรมการจากภาคประชาชน เป็นสัดส่วน 2ใน 3 ไว้ตามเดิม การให้อำนาจ คพรฟ.พิจารณาใช้เงินในแผนงานด้านที่ 7 เกิน 25 ล้านบาทได้ตามความจำเป็นแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่ กกพ. กำหนด”

รวมทั้งการอนุโลมให้กลุ่มบุคคล 3 คน ยังสามารถเป็นหน่วยดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการไว้ตามเดิม และการให้บังคับใช้เกณฑ์การประกาศพื้นที่กองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าใหม่เฉพาะกองทุนที่จัดตั้งหลังจากหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กกพ. จะลงพื้นที่จัดเวทีสื่อสารแนวทางการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ใหม่ ให้กับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้าทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลางและภาคตะวันออก

และภาคใต้ ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2563 นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและประโยชน์ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ควบคู่ไปกับการเปิดรับความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศให้เกิดความเหมาะสม