กบง. ตรึงราคา LPG ต่อถึงสิ้นปี 63 แม้สถานะกองทุนน้ำมัน ติดลบ 7,427 ล้านบาท

กบง. ตรึงราคา LPG ต่ออีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี 63 ส่วนค่าไฟฟ้า ก๊าซ NGV มอบหมายกกพ.หาแนวทาง ทบทวนต้นทุนกับสภาวะเศรษฐกิจก่อน พร้อมขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ต่ออีกถึงปี 65 เหตุปริมาณใช้ไฟฟ้าล้นระบบ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า

ที่ประชุมเห็นชอบให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยให้คงราคาขายปลีก LPG ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 ให้ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

พร้อมทั้ง หาแนวทาง ลดภาระค่าไฟฟ้า เห็นชอบหลักเกณฑ์คำนวณราคา ณ โรงกลั่น น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการส่งออก LPG โดยให้ยกเลิกมติเดิม และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้อนุญาตการส่งออก LPG เป็นรายเที่ยว

“สำหรับ LPG รัฐบาลยังคงช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท แม้สถานะยังคงติดลบ 7,427 ล้านบาท หากตรึงราคาต่ออีก 450 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน ถือว่ายังไม่เกินกรอบวงเงิน “

ส่วนแนวทางลดภาระค่าไฟฟ้า ให้กกพ. ไปดำเนินการทบทวนความต้องการรายได้ของการไฟฟ้า ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปบริหารจัดการปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

และให้ กกพ. ร่วมกับ กฟผ. จัดทำแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า รวมทั้งติดตามกำกับดูแลการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

รวมทั้ง เห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามระยะเวลา

โดยมอบให้ กกพ. ไปดำเนินการแจ้งผู้ได้รับการคัดเลือก ให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินการโครงการฯ และจัดส่งให้ กกพ. ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อพิจารณา และนำผลการพิจารณา มารายงานต่อ กบง. ต่อไป

“ตอนนี้ ปริมาณไฟฟ้าล้นระบบ 37-40% ก่อนหน้านี้ได้วางมาตรการการทั้งให้ขายไฟเพื่อนบ้าน ยังมีขยายกำหนด SCOD ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้จะมีการหารือแผนเพื่อรองรับผลกระทบในระยะยาว ให้สอดคล้องแผนพีดีพี ซึ่งต้องมีการทบทวนให้ครอบคลุม”

นอกจากนี้ ความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน ยังต้องรอการสรุปความคิดเห็นจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน (พพ.) ซึ่งต้องพิจารณา โครงสร้างพื้นฐาน และปริมาณไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อไป