ส่งออกถุงมือยางโต 125% สวนทางส่งออกไทย ส.ค. ติดลบ 7.94%

ถุงมือยาง
แฟ้มภาพ

มูลค่าการส่งออกไทยสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 20,212 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.94% ผลดีจากสินค้าสำคัญของไทยหลายสินค้าส่งออกดีขึ้น ถุงมือยาง ขยายตัว 125.9% คำสั่งซื้อยาวถึงปลาย 2564 แนะผู้ส่งออกเร่งทำตลาด

วันที่ 23 กันยายน 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 15,862 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 19.68% ส่งผลให้ประเทศไทยมีการค้าเกินดุล 4,349 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การส่งออก 8 เดือนแรกของปี (ม.ค.- ส.ค.) มีมูลค่า 153,374 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.75%

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 134,981 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 15.31% ส่งผลให้ประเทศไทยมีการค้าเกินดุล 18,393 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกทั้งปี 2563 ประเมินว่าการส่งออกไทยจากนี้หากเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 18,681 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีจะหดตัวอยู่ที่ ติดลบ 8% หรือมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 226,567 ล้านเหรียญสหรัฐ

สนค. คาดว่าการส่งออกทั้งปีไม่น่าติดลบถึงตัวเลข 2 หลัก อย่างที่หลายหน่วยงานหรือภาคเอกชนคาดการณ์ไว้ และหากมองว่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 18,188 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกทั้งปีติดลบ 9% มีมูลค่าอยู่ที่ 224,105 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ หากส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกทั้งปีติดลบ 5% มีมูลค่าอยู่ที่ 233,955 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกเดือนสิงหาคม 2563 แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้าๆ และภาคการผลิตจีนมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางทั่วโลก (คิวอี) มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายสินค้าของไทยที่มีศักยภาพส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะถุงมือยางที่การส่งออกขยายตัวถึง 125.9% โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น จีนและเยอรมนี ซึ่งคำสั่งซื้อพบว่ายาวไปถึงปลายปี 2564

“ถุงมือยาง กลายเป็นสินค้าสำคัญและมีศักยภาพของไทยที่มีความต้องการเป็นอย่างมาก และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นปริมาณมาก พบว่าเป็นสินค้าที่มีตัวเลขการส่งออกที่สูงกว่า การส่งออกสินค้า ไก่ กุ้ง ปลาทูน่า และน่าจะมีการขยายตัวส่งออกใกล้เคียงการส่งออกข้าว มันสำปะหลัง และยางพาราในเร็วนี้ ดังนั้น เห็นว่า เป็นช่องทางสำคัญที่ในการลงทุนเครื่องจักรเพราะความต้องการน่าจะขยายตัวไปถึง 2-3 ปีจากนี้”

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า การส่งออกจากนั้มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามโดยเฉพาะเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป เพราะจากการส่งออกในตอนนี้ของไทยไปในตลาดยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง และหากมีการปิดเมือง ปิดประเทศ ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ย. 2563 นี้ ซึ่งจะมีมาตรการอะไรบ้างที่จะกระทบต่อการส่งออก นำเข้า ด้วย


ส่วนเรื่องของการนำเข้าของไทยยังหดตัวนั้น หลักเป็นผลมาจากการนำเข้าในเรื่องของเครื่องจักร สินค้าทุนลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบหลักมาจากความต้องการตลาด การส่งออก มีผลกระทบต่อการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าไทยไปในหลายตลาดยังขยายตัวไปได้ดีอยู่ ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังสนับสนุนการฟื้นตัวมีผลดีต่อการส่งออกได้ดี