เกษตรฯดัน “อาหารอนาคต” ผนึกเอกชนปั้นไทย “ซิลิคอนวัลเลย์แพลนท์เบส”

โควิด-19 พลิกโอกาส กระทรวงเกษตรฯ ปั้นเกษตรกรไทย วาง 4 แนวทางเดินหน้าโครงการพืชแห่งอนาคต ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ยุคโควิด วางโรดแม็ปดันไทยเป็น “เจฮับ” ดึง “โมเดลซิลิคอนวัลเลย์” ผลิตอาหารแห่งอนาคตเจาะตลาด 4 พันล้านคน มูลค่า 5 แสนล้านบาท จับมือภาคเอกชนลุยโปรตีนทางเลือกจากพืช ชี้แนวโน้มตลาดส่งออกเนื้อจากพืช (Plant Based Meat) ในจีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรปเติบโตอย่างรวดเร็ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (First S-Curve New S-Curve) ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รับผิดชอบโครงการพืชแห่งอนาคต (Future Crop) เพื่อตอบสนองการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีของโปรตีนจากแมลง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารจากแมลงของโลก

นอกจากนั้น ยังมีอาหารแห่งอนาคตที่กำลังมาแรงคืออาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชผลิตเป็นอาหารที่เรียกว่า เนื้อจากพืช (Plant Based Meat) หรือ “อาหารเจ” ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับของการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะเป็นสินค้าเกษตรอาหารตัวใหม่ในการสร้างรายได้สร้างอาชีพ

“นับเป็นธุรกิจการเกษตรใหม่ๆ ให้กับภาคเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในยุคโควิดที่ผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีประชากรกว่า 4 พันล้านคน ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นนับเป็น New Normal ในยุคโควิดเป็นเทรนด์การรับประทานอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก”

โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO (Food and Agriculture Organization) คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม หากการผลิตอาหารยังคงดำเนินไปในรูปแบบเดิม การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนจากพืชจึงเป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

สอดคล้องกับยอดขายอาหารสำเร็จรูปของเนื้อจากพืชในสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง ระหว่างปี 2013-2018 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 15.4% เทียบกับเนื้อแปรรูป (Processed Meat) ที่เติบโตเพียงปีละ 1.2% สอดคล้องกับข้อมูลของ NPD Group ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาที่ขายเบอร์เกอร์และแซนวิชเนื้อที่ทำจากพืช

พบว่า ยอดขายระหว่างเมษายน 2018 – มีนาคม 2019 เพิ่มขึ้นถึง 7.8% ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับบริษัท Beyond Meat หนึ่งในโรงงานผลิตเนื้อจากพืชรายใหญ่สุดของโลกก็รายงานยอดขายไตรมาส 2 ของปี 2019 เติบโตถึง 287% ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืช สะท้อนจากธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนตลาดอาหารเจในจีนที่ใช้เนื้อจากพืชกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมาและถ้ารวมมูลค่าตลาดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะมีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ไม่ว่าค่ายอาลีบาบา ของจีนหรือสตาร์บัค เคเอฟซีและเนสเลของประเทศตะวันตกต่างขยายการผลิตและการตลาดอาหาร

อาทิ ติ่มซำ ซาลาเปา เฝอ ก๊วยเตี๋ยว ซูชิแกงกะหรี่ จนถึงไส้กรอก ไก่ย่างและแฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากโปรตีนพืช เช่นถั่วเหลือง ถั่วลันเตา มะเขือยาว เห็ด สาหร่าย พืชสมุนไพร พืชสวนครัว น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวเป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มีบริษัทชื่อ “Let’s Plant Meat” เป็นผู้ผลิตเนื้อจากพืชรายแรกในประเทศไทยและได้รับรางวัลระดับทวีปเอเซียประเภทอาหารแห่งอนาคตจากโปรตีนพืชประจำปี 2563 โดยมีการวางจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์ใช้เนื้อจากพืชในซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเทสโก้โลตัส แม็กแวลูและกูเมท์มาร์เก็ต

โดยมีราคาถูกกว่าของอเมริกายี่ห้อ Beyond Burger ยักษ์ใหญ่ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพและราคาและยังมีบริษัท Meat Avatar เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทยรวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็ออกผลิตภัณฑ์เฟรกซิทาเรี่ยน(Flexitarians) ออกสู่ตลาด โดยมี

4 แนวทาง ได้แก่ เทคโนโลยีเกษตร นวัตกรรมอาหาร ระบบทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยเป็นหัวใจหลักในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การแปรรูปการตลาด การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรม “เนื้อจากพืช” หรืออาหารเจป้อนตลาดในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

ทั้งนี้ รัฐเอกชน จะร่วมกับกลุ่มบริษัทไทยผู้ผลิตอาหารเจ เร่งทำแผนโมเดลเนื้อจากพืช (Plant Based Meat) จัดทำโรดแมปตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคต หรือเรียกว่า ซิลิคอน วัลเลย์อาหารแห่งอนาคต (Silicon Valley of Future Food)