ประธาน กยท.แนะปล่อยราคายางตามกลไกตลาด 1-2 เดือนดีขึ้น-เล็งลดพื้นที่ปลูก

พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาราคายางตกต่ำนั้นว่า ต้องปล่อยให้ราคาขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป และเชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนราคาจะขึ้นไปตามธรรมชาติ

“การที่มีนักการเมืองบางท่านที่ออกมาผมก็เข้าใจเพราะท่านเป็นนักการเมือง ถ้าประชาชนเดือดร้อนแล้วท่านไม่ออกมาเสนอโน่นเสนอนี่ก็คงเป็นเรื่องประหลาด ส่วนข้อเสนอผมดูทุกข้อแล้วว่าเราทำหมดแล้ว เว้นเรื่องเดียวคือที่ต้องการให้ราคายางขึ้นไป 70 บาท/กก. …เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกข้อเสนอ ไม่ว่าท่านจะเป็นอดีต ส.ส. หรือผู้นำองค์กรใดก็แล้วแต่เราไม่เคยเพิกเฉย อันไหนทำแล้วก็บอกว่าทำแล้ว อันไหนกำลังทำก็บอกกำลังทำ อันไหนทำไม่ได้เราก็บอกให้รอเวลาสักนิดนึง เราไม่เคยปฏิเสธทุกข้อเสนอ”พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว

นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายจะเข้ามาสนับสนุนกองทุน ส่วนพ.ร.บ.ควบคุมยาง จะปัดฝุ่นและทำให้ดีขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องการส่งออกยาง การตรวจสต็อกยาง การควบคุมคุณภาพยาง

ปัญหาอีกอย่างคือประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกยางที่เป็นวัตถุดิบ ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลคือต้องการส่งเสริมการใช้การผลิตในประเทศ ส่งเสริมให้ SME เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ยาง เพราะเมื่อเกิดวิกฤตกับราคายางเช่นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทำให้ยางที่กรีดมาแล้วเก็บไม่ได้ต้องเสียหาย

“พยายามชักชวน แนะนำเกษตรกรให้แปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น ที่เคยเก็บเป็นน้ำยางก็เอามาแปรรูปอีกขึ้นเป็นยางแผ่นจะได้เก็บได้นานขึ้น ที่เป็นยางแผ่นก็ตั้งโรงงานหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะขายได้ในราคาดีขึ้น เราพยายามส่งเสริมการใช้ในประเทศให้มากๆ เพื่อลดซัพพลายลง เพราะดีมานด์มันเท่าเดิม และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าถ้ายางที่จีนปลูก เวียดนามปลูก ลาวปลูกเริ่มกรีดได้ ณ วันนั้นยางจะทะลักล้นออกมาอีกมาก


สิ่งสำคัญของเราคือลดพื้นที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ป่าต้นไม้ซึ่งมีการปลูกยางเป็นหลักล้านไร่ก็คงต้องเลิกเพราะทำให้เกิดอุทกภัยเกิดภัยธรรมชาติ ลดการปลูกไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อให้มีรายได้เสริม แต่ก็ไม่ใช่ปลูกเหมือนกันหมด แต่ถ้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องให้มีความหลากหลาย ไม่ใช่ผลิตหมอน ก็ผลิตแต่หมอนเหมือนกันหมดอีก ซึ่งยางยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมสูงขึ้น ได้ราคามากขึ้น ต้องวางแผนระยะยาวด้วย ซึ่งถ้าจะมี EEC จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 แล้วจะมาขายแต่วัตถุดิบไม่ได้แล้ว เราต้องมีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทำให้น่าใช้แล้วก็ส่งออกไปขายประเทศที่เค้าพัฒนาไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลมุ่งหวังและกำหนดให้เราปฏิบัติ”พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว