กฟผ.กางแผนเพิ่มรายได้ ขึ้นชั้นฮับเทรดเดอร์ไฟฟ้า

กฟผ.-สายส่ง

เตรียมแปลงโฉม “กฟผ.” สู่ฮับเทรดเดอร์ไฟฟ้าอาเซียน รับมือปริมาณไฟฟ้าล้น ชงตั้งบริษัทเทรดเดอร์น้อง EGATi ร่วมทุนกับ 3 พันธมิตร”กฟผ.-เอ็กโก-ราชกรุุ๊ป” ลงทุนขยายสายส่งเพิ่มเท่าตัวจาก 215 KV เป็น 500 KV ปี 2568 เจรจาขายไฟฟ้าจีทูจีเข้ากัมพูชา-เมียนมา คาดลงทุนพัฒนาสายส่งตามแผน PDP 2018 ระยะ 20 ปี ใช้งบฯ 6 แสนล้าน สู่ ASEAN Power Grid

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ส่งเงินเข้ารัฐเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ส่งเงินให้รัฐ 28,619 ล้านบาท รองจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ส่งเงิน 34,304 ล้านบาท และ ปตท.ที่ส่งเงิน 29,198 ล้านบาท แต่หลังจากที่มีการพัฒนาการลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเพิ่มขึ้น prosumer ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2018 (PDP) จะไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นความท้าทายต่อการทำงานท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีนโยบายจะปรับการทำงานของ กฟผ.ให้เป็นศูนย์กลางการรับซื้อไฟฟ้าในระดับภูมิภาค โดยต้องเร่งผลักดันให้ กฟผ.เป็นศูนย์ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินเป็นจำนวนมาก และคาดว่าในปี 2568-2570 จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว เข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (commercial operation date-COD) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าล้น จึงจำเป็นต้องระบายออกไปสู่ตลาดอาเซียน

โดยสิ่งที่ กฟผ.ต้องทำคือ การเป็นเทรดดิ้งซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ขายไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้นำร่องไปที่มาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ สิงคโปร์ 100 เมกะวัตต์ ตามนโยบายระหว่างลาว-ไทย-มาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขายไปให้กับสิงคโปร์ กัมพูชา และเมียนมา

“นโยบายนี้จะทำให้ กฟผ.มีรายได้ด้วย โดยไม่แปรรูป ตอนนี้ กฟผ.เหมือนคนอ้วน เราจะใส่สแก็ตให้เค้า โดยปรับบทบาทเป็นเทรดดิ้ง นวัตกรรม สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV charging station) มีเครื่องมือผลักให้ไปเร็ว ไม่แปรรูป”

นายกุลิศกล่าวว่า ส่วนแนวทางการปรับองค์กรของ กฟผ. จะมีการตั้งบริษัท innovation company ซึ่งเป็นบริษัทลูกแห่งใหม่ขึ้นมาเพิ่ม จากเดิมที่มี EGATi ขณะนี้จะเสนอ กพร. กระทรวงการคลัง ซึ่งบริษัทนี้ กฟผ.ถือหุ้น 40% ECGO 30% และ RATCH 30% เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนและเทรดดิ้งไฟฟ้า โดยระหว่างนี้ กฟผ.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่้อขยายสายส่ง จากขนาด 215 KV เป็น 2 เฟส คือ ขยายเป็น 230 KV และเพิ่มเป็น 500 KV ภายใน 5 ปี เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณการลงทุนจะใช้งบประมาณประจำปีของ กฟผ.ที่มีการวางแผนการลงทุนไว้อยู่แล้ว เพื่อเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) มีการวางแผนขยายสายส่งทั้งในรูตเดิม และรูตใหม่ ระยะเวลา 20 ปี วงเงิน 6 แสนล้านบาท โดยเป้าหมายของการขยายสายส่ง 4 ด้าน คือ 1) เพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น 2) เพื่อวางระบบสายส่งที่เป็นมาตรฐานเดียวกันให้มีระบบสแปร์ เพื่อสำรองกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สายขาด หรือ N-1 3) เพื่อรองรับการเกิดโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ให้สามารถขายเข้าระบบได้ เพราะหากไม่มีสายส่งจะทำให้ไฟไหลย้อนกลับ และ 4) เพื่อเชื่อมโยงการส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศตามแผน ASEAN Power Grid

“การลงทุนจะมีทั้งแบบขยายสายส่งในเส้นทางเดิม อัพเกรดสายส่งเพิ่มขึ้นจาก 230 เควี เป็น 500 เควี และรูตใหม่ซึ่งเป็นอีกโมเดลหนึ่ง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนาเมนกริด โดยในแต่ละปีก็จะวางงบประมาณเป็นเฟส ๆ ไป และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเป็นรายปี หลักหมื่น-แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละพื้นที่จะใช้เม็ดเงินดำเนินการต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นว่า พื้นที่อีอีซีราคาสูง ต้นทุนการเวนคืนที่ดิน หรือค่ารอนสิทธิ์ก็จะสูงกว่า อาจจะมากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเท่าตัว เป็นต้น จึงไม่สามารถบอกต้นทุนเฉลี่ยการลงทุนต่อ 1 กม.ได้” นายพัฒนากล่าวและว่า

นอกจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบสายส่งด้วย เช่นว่า การขยายรูตเดิมจาก 230 เควี เป็น 500 เควี แต่ทำแบบ 4 วงจร เหมือนตัดถนน 4 เลน ไว้รออนาคต ก็จะมีต้นทุนสูงกว่า แต่สามารถรองรับการส่งไฟฟ้าได้ดีกว่า 3-4 เท่า เป็นต้น และการเวนคืนอาจจะเวนคืนรอบเดียวสำหรับถนน 4 เลน แต่สร้างแค่ 2 เลนก็ได้ แล้วค่อยไปสร้างเพิ่มในอนาคต หรือจะสร้าง 4 เลนไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ กฟผ.มีการวางงบประมาณในการลงทุนไว้ 3 หมื่นล้านบาท แผนการลงทุนหลักจะเน้นไปที่สายส่ง สัดส่วน 70% ขณะที่การลงทุนโรงไฟฟ้ามี 30% ซึ่งในปีนี้อาจจะมีความล่าช้าบ้าง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง กฟผ.จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนต่อไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ตอนนี้ปริมาณไฟฟ้าล้นระบบ 37-40% ก่อนหน้านี้ได้วางมาตรการทั้งขายไฟให้เพื่อนบ้าน และยังมีขยายกำหนด SCOD ซึ่งในที่ประชุม กบง.ครั้งนี้ได้เห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไป 1 ปี เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการที่ไม่สามารถจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามระยะเวลา โดยมอบให้ กกพ.ไปแจ้งผู้ได้รับการคัดเลือก ให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินการโครงการส่งให้ กกพ. ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อมารายงานต่อ กบง.ต่อไป


ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้จะมีการหารือแผนเพื่อรองรับผลกระทบในระยะยาว ให้สอดคล้องแผนพีดีพี ซึ่งต้องมีการทบทวนให้ครอบคลุม