“วีรศักดิ์” ลงพื้นที่อุบลฯ แนะเกษตรกรโคเนื้อ-เกษตรอินทรีย์ ใช้ FTA ดันส่งออก

“วีรศักดิ์” นำคณะลงพื้นที่จังหวัดอุบลฯ กระตุ้น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคเนื้อและเกษตรอินทรีย์ใช้ FTA ขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างนำผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2563 ว่า ฐานะที่ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแล 2 จังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาจากผลกระทบโควิด-19

ทั้งนี้ ตนเล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดอุบลฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรโคเนื้อ เกษตรอินทรีย์ และสินค้าแปรรูป จึงต้องการเร่งให้เกษตรกร วิสาหกิจ การใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ฉบับต่างๆ ขยายส่งออก

“การใช้ช่องทางเอฟทีเอ จะเป็นช่องทางสำคัญในการช่วยกระตุ้นการส่งออก ลดต้นทุนทางธุรกิจ อีกทั้งจะเป็นแต้มต่อสำคัญที่จะทำให้สินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น และแข่งขันได้ในตลาดโลก”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และคาดว่าในปี 2564 ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อเตรียมความพร้อมให้ความรู้ในการใช้ช่องทางเอฟทีเอ ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการมาใช้สิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย เช่น สินค้าโคเนื้อและเกษตรอินทรีย์ เข้าสู่ตลาดการค้าเสรีให้มากขึ้น โดยปี 2563 นี้ กรมฯเดินหน้าครบแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบลงพื้นที่ดูสินค้าและการจัดแสดงสินค้า เพื่อกระตุ้นและให้ความรู้การใช้เอฟทีเอ จังหวัดที่กรมฯเดินหน้ไปแล้ว เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ สระบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี และอุบลราชธานี ส่วนในปีหน้าอยู่ระหว่างศึกษาสินค้าที่มีศักยภาพและลงพื้นที่กระตุ้นการใข้เอฟทีเอต่อไป

“จากความตกลงการค้าเสรีที่มีในปัจจุบัน 13 ฉบับ ในการส่งออกไปตลาดคู่ค้า 18 ประเทศ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้กับไทยแล้ว จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ และจากผลกระทบในปัจจุบันการใช้สิทธิทางการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าสำคัญของไทย”

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ในปี 2562 มีมูลค่าส่งออกกว่า 40,560.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) ส่งออกไปแล้วกว่า 23,041 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.4% ซึ่งคาดว่าในภาพรวมสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะลอตัว

โดยสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลไม้ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.3% ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง 536 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.3% ปศุสัตว์ 506 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 112.7% เป็นต้น

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรไป 18 ประเทศคู่ FTA ของไทย จะพบว่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 63 ยังคงขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แม้จะเผชิญวิกฤตโควิด-19 ซึ่งแสดงถึงศักยภาพสินค้าเกษตรของไทย