ฝ่าวิกฤตหนี้ 7 ล้านล้าน อัดแพ็กเกจปลุกเศรษฐกิจโค้งท้ายปี’63

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รัฐทุ่มเต็มสูบแก้พิษโควิด 3 เดือนอัดเงิน 8 แสนล้าน เยียวยา-เสริมสภาพคล่อง เร่งสปีดแก้วิกฤตหนี้ 7 ล้านล้าน 12.8 ล้านราย ชี้หลังปลดล็อกดาวน์ดัชนีการผลิต-บริโภคกระเตื้อง มั่นใจสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ต.ค.นี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่รอด ดึงสภาอุตฯ สภาหอการค้าฯ สกรีนผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก โฟกัสรายไหนควรได้รับความช่วยเหลือ รายไหนช่วยไม่ไหว ก่อนให้แบงก์-บสย.ปรับโครงสร้างหนี้ เตรียมอัดแพ็กเกจเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้าย แย้มข่าวดีได้ขุนคลังคนใหม่เดือนหน้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือก ทางรอด ประเทศไทย” ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) ว่า ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกับรัฐบาล ควบคุม รักษาวินัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ระบาด เป็นข้อดีและจุดเด่นของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ทางรอดในการฝ่าวิกฤตหนี้

3 เดือนเยียวยา 8 แสนล้าน

“ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีความจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การควบคุมเป็นไปได้อย่างดี แน่นอนเดือดร้อนทุกภาคส่วน รัฐบาลใช้ทุกมาตรการที่มีเพื่อเยียวยาสภาพคล่องเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ เงินจำนวนไม่น้อยที่ใช้ไปกว่า 8 แสนล้านบาท เช่น มาตรการช่วยคนหาเช้ากินค่ำและเกษตรกร 33 ล้านคน วงเงิน 4 แสนกว่าล้านบาท ส่วนสภาพคล่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท สินเชื่อธนาคารพาณิชย์กว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 2 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟฟรี 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เรามีวันนี้ ฟื้นฟูและเริ่มต้นกันใหม่”

พักหนี้ 7 ล้านล้าน 13 ล้านคน

แน่นอนยังมีอุตสาหกรรมที่ยังเดือดร้อนจากการเปิดประเทศได้ไม่สมบูรณ์ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก หรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งเกิดขึ้นทุกประเทศในโลก เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครเกิดขึ้นมาก่อน หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนายังสาละวนกับการแก้ปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด เช่น อังกฤษ

“ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา สภาพคล่องที่เกิดขึ้นสำคัญมาก เป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน ให้สภาพคล่องมากขึ้น และรักษาการจ้างงานในวันนี้ ยอดหนี้ประมาณ 7 ล้านล้านบาท แต่มีผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากการพักชำระหนี้ 12.8 ล้านคน แม้เมื่อเฉลี่ยหนี้ต่อหัวไม่มาก แต่จำนวนผู้เกี่ยวข้องมาก”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า หลายคนอาจเรียกว่า มหาวิกฤต แต่อยากจะให้ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ต้องไม่เกิดขึ้น ต้องมีทางแก้และทางเลือก ครั้งนี้จะพยายามแก้ปัญหาเต็มที่ด้วยตำแหน่งและหน้าที่ที่มีในการรักษาไม่ให้เกิดวิกฤต วันนี้ระดับปัญหาไม่มาก เป็นเรื่องของการบริหารจัดการมากกว่า แต่ยากตรงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยไปด้วย

“เราต้องมีความหวังและความเชื่อร่วมกันคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดต้องมีวันสิ้นสุด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปลายปี 2020 โลกจะกลับคืนสภาพปกติ ถ้าถามผม ถ้าประเทศไทยทำได้ดีอีก 2 ปี เราจะกลับสู่ปกติ และถ้าทำได้ดีมาก เราจะเข้าสู่ปกติภายในปลายปี 2564 และปี 2565 จะกลับสู่ปกติ”

แต่เรายังเรียกว่าความไม่แน่นอน จึงต้องแสวงหาความรู้เพื่อสะสมความหวังและความเชื่อให้เกิดขึ้น เพื่อเดินไปข้างหน้า ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับปัญหากับความกลัว เราจะอยู่กับที่ ไม่เดินหน้า และเราจะไม่แก้ปัญหา หรือปัญหาแก้ไขได้ยาก

“ปัญหาหนี้ถ้าท่านเชื่อว่าต้องมีวันจบ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์ และ ธปท. แม้กระทั่งรัฐบาลต้องติดตามใกล้ชิด และต้องสร้างความเชื่อและความหวัง ส่วนตัวเชื่อว่าภายใน 1-2 ปี เราจะกลับสู่ปกติ และปัญหาจะน้อยลง เพราะเมื่อผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 6 ระยะแล้ว บ้านเมืองกลับสู่ปกติ การบริโภค การใช้จ่ายดีขึ้น ตัวเลขดัชนีการผลิต การบริโภคดีขึ้นตลอด 4 เดือน จำนวนหนี้จาก 7 ล้านล้านบาทจะน้อยลง”

เสถียรภาพสถาบันการเงินแกร่ง

ที่ผ่านมา รัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ รวมถึง ธปท.มีมาตรการป้องกันล่วงหน้า เช่น การเพิ่มทุนเพื่อรองรับกรณีมีหนี้เสียจำนวนมากในไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ra-tio) สูงถึง 19% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 11% ธนาคารเฉพาะกิจเกิน 13% สูงกว่าเกณฑ์มาก 8.5% มาก อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาหนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องทำเร็ว ต้องทำทุกเม็ด ต้องรู้จักลูกค้าทุกคน ต้องแก้เป็นรายคน รวดเร็วเพื่อให้ลูกหนี้ที่รู้สึกว่าควรได้รับการเยียวยา ไม่ทอดทิ้งเขาไปไหน

ดึงสภาอุตฯ-สภาหอฯสกรีนลูกหนี้

“ผมพยายามพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพราะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลางและย่อย ให้ช่วยส่งสัญญาณให้สถาบันการเงิน เพื่อให้เห็นความร่วมมือ เช่น การจ่ายเงินเร็วขึ้น สร้างสภาพคล่องให้กับคนตัวเล็ก คนตัวใหญ่ พี่ใหญ่ประคับประคองน้อง ๆ ที่ยังขาดสภาพคล่องเพื่อรักษาแรงงาน ให้เกิดการจ้างงานตลอด ขอให้ช่วยให้ข้อมูลกับสถาบันการเงินว่า ใครควรได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง ต้องทำให้เร็ว อย่าทอดให้นาน”

ให้ ส.อ.ท. สภาหอการค้าฯให้ข้อมูลว่า ลูกหนี้รายไหนควรได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง กลุ่มไหนปรับโครงสร้างหนี้แล้วไปได้ก็ต้องปรับ แต่พวกเทา ๆ คือ หยุดประกอบการ หรือประกอบการแล้วต่ำกว่า cash cost แต่ตรรกะว่าโควิดมีวันจบ ข้อมูลที่ได้จะวิเคราะห์สถานการณ์แยกแยะได้ว่า ใครที่ควรช่วย ใครที่เราช่วยไม่ไหว ต้องช่วยตัวเอง เราถึงจะช่วย วิถีนี้จะทำให้ความห่วงว่าวิกฤตหมดไป

“ถ้าเราเชื่อว่าโควิดต้องมีวันสิ้นสุด เราจะเห็นโอกาสช่วยเหลือ เห็นโอกาสปรับโครงสร้างนี้ ตรงนี้จะเป็นจุดตัดสินใจที่ก้ำกึ่ง ทำให้ดีที่สุด ส่วนกลุ่มที่ก่อนโควิดก็ไปไม่ได้อยู่แล้วก็แยกออกอีกกลุ่ม ซึ่งยากและเห็นใจ แต่ต้องช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากความกลัวในเรื่องวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ ผมใช้คำว่าความกลัว เพราะไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤต”

อัดแพ็กเกจ 3 เดือนสุดท้ายปี’63

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า ถ้าทำไม่ดี ปัญหาคือเกิดวิกฤต จะนำไปสู่การว่างงาน การรักษาการจ้างแรงงานทำไม่ได้ เรื่องก็จะกลับมาสู่รัฐบาล แต่รัฐบาลเตรียมไว้หมดแล้ว การจ้างงาน การเพิ่มสภาพคล่อง การกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2563 ภายใต้มาตรการ copayment เพื่อสร้างสภาพคล่องให้เกิดการชำระหนี้ และแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปรวดเร็วและมั่นใจ รัฐบาลเข้มแข็งและมีสถานภาพทางการเงินที่ดีเป็นที่ประจักษ์ ส่วนมาตรการอื่น ๆ จะค่อย ๆ เปิดประเทศ การดำเนินธุรกิจทำได้มากขึ้น นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น

“รัฐบาลไทยใช้ไปแล้ว 8 แสนล้านบาท และมีเงินสำรองที่ยังไม่ได้ใช้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเท่าเดิมคือ stable เสถียรภาพทางการเงินเข้มแข็ง ตอนนี้จะรอ ธปท. สถาบันการเงิน ลูกหนี้ ส.อ.ท. สภาหอการค้าฯจะร่วมมือกันอย่างไร”

ต.ค.ได้ รมว.คลังคนใหม่

ส่วนคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ได้ทันไตรมาส 4 แน่นอน ภายในเดือนตุลาคมต้องเห็นรัฐมนตรีคนใหม่

“มีแล้วครับ แต่ไม่ทราบชื่อ ทราบอยู่อย่างเดียวว่า ท่านนายกฯให้ความเชื่อมั่นว่า ทำงานกับผมได้ ท่านนายกฯให้ความสบายใจ เพราะท่านนายกฯสัมผัสกับผมมา รู้ว่าผมทำงานยังไง เน้นการแก้ปัญหา เดินหน้าเข้าสู่การแก้ปัญหาให้กลับไปสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด ไม่ทราบว่าเป็นคนในหรือคนนอก เพราะผมยังไม่รู้จักชื่อเลย”

หนี้สาธารณะยังจัดการได้

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อเรื่อง “ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ” ว่า เรื่องหนี้อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ส่วนประเทศต้องเดิน financing ในรูปแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องแยกหนี้ออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศ ในช่วงกรกฎาคม 2563 ขณะนี้หนี้สาธารณะของประเทศ 47% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ 41% หลายคนมองว่าพุ่งขึ้นมาเยอะ แต่มีความจำเป็น สถานการณ์ประเทศไม่ปกติ เราต้องบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยังอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ ซึ่งตามกรอบอยู่ที่ 60% ของจีดีพี แม้ว่าจะกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้

งบประมาณสมดุลอีก 5 ปีข้างหน้า

นายดนุชากล่าวว่า หากเทียบกับหนี้สาธารณะของประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะขึ้นจาก 109% มาเป็น 131% ญี่ปุ่นขึ้นจาก 237% มาเป็น 252% หรือสหราชอาณาจักร ปรับขึ้นจาก 85% มาเป็น 91% ของไทยอยู่ในระดับที่การพุ่งขึ้นไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของประเทศเกิดขึ้น ส่วนแรกส่วนที่เรากู้มาเพื่อขาดดุลงบประมาณ เพราะเรามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าเราจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด ซึ่งรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนที่เกินต้องกู้เข้ามา ช่วง 10 ปีจัดงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ 2.5 แสนล้าน 3 แสนล้าน จนขณะนี้ 5-6 แสนล้าน ขยายตัวขึ้นมาตามขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

“ถามว่ามีปัญหาหรือไม่ เราพยายามที่ทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลให้ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เราจะจัดงบประมาณขาดดุลแบบนี้ต่อไปคงไม่ได้”

จ่อลดขนาดภาครัฐราชการ

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนที่สอง หนี้ที่กู้มาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน ระบบประปา ระบบน้ำ โปรเจ็กต์เหล่านี้ ปีหนึ่ง ๆ อยู่ที่ 3-5 แสนล้านต่อปี ขึ้นอยู่กับโครงการที่อนุมัติ ซึ่งไม่มีความกังวลมาก เพราะลงในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ มีการรีเทิร์นทางเศรษฐกิจ ส่วนที่สาม คือหนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายกึ่งการคลัง คือ รัฐต้องการทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ต้องให้กลไกธนาคารของรัฐให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณให้ภายหลัง

หรือการทำโครงการ PPP ระหว่างรัฐกับเอกชน ในลักษณะ long-term payment จ่ายประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า ต้องการให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกเร็วขึ้น เช่น รถไฟฟ้าบางสาย ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำได้ในบางช่วงเวลา คงจะทำเยอะไม่ได้ เพราะจะไปเบียดฐานะการคลังของเรา ทำให้มีเงินลงทุนในงบประมาณลดลง ทำได้แค่บางโครงการเท่านั้น

“สิ่งที่จะเกิดจากการปรับโครงสร้าง ถ้าเราต้องการลดการขาดดุลของประเทศ ส่วนหนึ่งที่ต้องเริ่มทำวันนี้ คือ ปรับโครงสร้างระบบราชการซึ่งใหญ่มาก ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบฯประจำ 80% สูงเกินไป ทั้งที่วันนี้มีเทคโนโลยี มีดิจิทัลเข้ามาดำเนินการได้ ในอนาคตต้องปรับโครงสร้างภาครัฐให้กะทัดรัดลง เพื่อจะได้มีช่องว่างสำหรับทำงบประมาณเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น และจะลดเรื่องการขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะเดียวกันก็จัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย”

ปรับเกณฑ์ซอฟต์โลนช่วย SMEs

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนหนี้ภาคธุรกิจในต้นปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่พุ่งสูงขึ้นมา โดยขยายตัว 36.5% เทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาเกิดจากการผ่อนคลายดอกเบี้ยต่าง ๆ แต่หากดู SMEs การขยายตัวค่อนข้างลดลงเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน ศักยภาพของ SMEs ที่ยังมีปัญหาต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่บ้าง จึงต้องมีการแก้ไข ขณะเดียวกันหนี้ธุรกิจ SMEs ภาครัฐมีมาตรการไปหลายอย่าง ตั้งแต่ 10 มีนาคม 2563 ภาครัฐออกมาตรการไปค่อนข้างเยอะ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว วงเงิน 2.5 แสนล้าน

นอกจากนี้ยังมี พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นซอฟต์โลนวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ตอนนี้ใช้ไปแค่ 1 แสนล้านเท่านั้น จะต้องดูปรับเงื่อนไขการเงินการคลังอย่างไร กำลังหารือกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ ทำอย่างไรที่จะปรับปรุงเงื่อนไขให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐให้ได้

ห่วงเด็กจบใหม่หนี้ท่วมหัว

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนหนี้ครัวเรือน ขณะนี้เราอยู่ที่ 80% ของจีดีพี โครงสร้างหนี้เป็นหนี้ระยะยาว ที่อยู่อาศัย 33.0-34% ส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 27% ต้องดูใกล้ชิด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือหนี้ส่วนบุคคลให้อยู่รอดต่อไปได้และลดระดับหนี้ลงมา อัตราการขยายตัวหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงตั้งแต่กลางปี 2562 เข้มข้นขึ้นในการคัดกรอง และมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงมาเรื่อย ๆ

แต่น่าสนใจว่าคนที่เป็นหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น จบปริญญาตรีก็เป็นหนี้แล้ว คือกลุ่มอายุ 22-40 ปี เป็นหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง เป็นที่แปลกใจจบปริญญาตรีสามารถสร้างหนี้สร้างสินได้เยอะ จึงต้องกลับมาดูว่าเป็นที่ตัวบุคคล หรือ ecosystem ของระบบ

เร่งออกมาตรการช่วยคนตกงาน

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนผลกระทบจากหนี้ต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่หนี้ภาครัฐ เมื่อปัญหาหนี้ของประเทศสูงขึ้น อัตราขยายตัวลดลงโดยระบบ แม้มีเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหนี้เกินความสามารถของประเทศจะจัดการได้ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศลดลง แต่โชคดีของประเทศไทยที่จัดการได้ ผ่อนคลายต่าง ๆแทบจะ 100% เหลือเพียงให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้คนสามารถหารายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

แนะแบงก์ต้องช่วย SMEs


นายดนุชากล่าวว่า หนี้เอกชน ภาคธุรกิจ ณ ตอนนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐหมดไปและยังไม่มีการต่อ ต้องเริ่มมาดูว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง SMEs กับทางธนาคาร ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ต้องช่วยเหลือกัน ถ้าพังทั้งระบบยากที่จะแก้ ดังนั้นต้องกลับมาคุยกันและช่วยเหลือกันมากยิ่งขึ้น