อคส. ทบทวนแผน “เอเชียทีค 2” หวั่นเสี่ยง-ไม่คุ้มค่าลงทุน

พิมพ์เขียว

ผอ.อคส. เผยแผนสร้างรายได้ ย้ำโครงการพัฒนาพื้นที่คลังธนบุรี 1 หรือที่เข้าใจว่าเป็น “เอเชียทีค 2” ต้องดึงทบทวนความเสี่ยงอีกรอบหลังเจอปัญหาโควิด ย้ำยังไม่ยกเลิกโครงการพร้อมเดินหน้าต่อแต่ต้องคุ้มค่า

วันที่ 28 กันยายน 2563 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ตนเตรียมจัดทัพสร้างบุคลากรให้สอดคล้องพันธกิจของ อคส. โดยเฉพาะการสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจที่ล้นตลาด พร้อมกับจัดหาเครื่องมือมาเพิ่มศักยภาพให้บุคคลากรให้สามารถทำงานได้คล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น และนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร เป้าหมายลดขั้นตอนความซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ ภายหลังนำเสนอการจัดทัพหรือปรับโครงสร้างบุคลากรในองค์กร และนำเครื่องมือเข้ามาใช้ในการทำงาน ทาง อคส. ก็ดำเนินการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อที่วางแผนในการทำตลาดสร้างรายได้ให้องค์กร โดยเฉพาะการทำตลาดในกลุ่มเกษตรกร เช่น ข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นตัวนำร่องจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดรายได้

โดยแต่ละทีมนั้นจะต้องวางแผนและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าและความเสี่ยง สำหรับการทำตลาดและการทำรายได้จะดำเนินการไปในทิศใดได้บ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส.
เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต

“ต้องยอมรับว่าหลายสินค้าในพืชเกษตร บางช่วงที่ผลผลิตออกราคาตก ล้นตลาด อคส.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการอย่างไรในการสร้างรายได้และดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน ซึ่งเดิมรายได้หลักมาจากค่าเช่าคลัง การทำข้าวถุง การประมูลข้าวขายให้กับหน่วยงาน ซึ่งทำให้รายได้ให้องค์กรได้ไม่มากเพียงประคององค์กรได้แต่ยังไม่ได้ก่อให้เกิดกำไรหรือลดขาดทุนได้ในปัจจุบัน ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้องค์กรและผลกำไรให้เกิดขึ้น อาจจะมีการรับซื้อสินค้าเกษตรเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น”

ทงทวนแผน “เอเชียทีค 2”

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่คลังธนบุรี 1 ของ อคส. นั้น หรือที่เข้าใจว่าเป็น “เอเชียทีค 2” นั้น เบื้องต้น อคส.อาจจะนำโครงการนี้มาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการ ความคุ้มค่าของโครงการและผลกำไรที่จะเกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโควิด-19 รวมไปถึงการแข่งขันทางการตลาดในพื้นที่ใกล้เคียงมีมากขึ้น

ทั้งนี้ หากจะเดินหน้าต่อ จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแผนหรือต้องปรับเปลี่ยนโครงการให้เหมาะสมอย่างไร ซึ่งจะนำมาวิเคราห์ใหม่ทั้งหมด แต่ไม่ได้จ้างศึกษาใหม่ แต่นำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เท่านั้น

“ยังตอบไม่ได้ว่าแผนจะเดินหน้าออกมาเป็นอย่างไร จะต้องให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ. (PPP) แบบใด จะแล้วเสร็จเมื่อไร ซึ่งขอเวลาศึกษาก่อนแต่ยืนยันว่าโครงการนี้ยังคงมีต่อไปเพื่อจะสร้างรายได้ให้องค์กร รวมไปถึงคลังในพื้นที่อื่นๆด้วย ส่วนคลังพื้นที่ต่างจังหวัดก็ต้องศึกษาความเหมาะสม อาจจะมีการพัฒนาเป็นคลังห้องเย็นเพื่อรองรับสินค้าเกษตร ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสินค้าเกษตรแต่ละพื้นที่ด้วย รวมไปถึงลูกค้าที่จะเข้ามาใช้คลังสินค้าของ อคส. ด้วย ซึ่งก็ต้องดำเนินการให้คุ้มค่ากับการลงทุน”

สำหรับ พันธกิจของ อคส. นั้น ได้แก่ 1.เป็นพันธมิตรกับธุรกิจภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สิน และกิจการขององค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2.เชื่อมโยงกับเครือข่ายของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหาแหล่งผลิตสินค้าพืชผลทางการเกษตรและประมง สินค้าแปรรูป กึ่งแปรรูป OTOP และอื่นๆ เข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย 3.ส่งเสริมและเชื่อมโยงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและตอบสนองต่อความต้องการของตลาด (Demand Side)

4.มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้และเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มทักษะในเชิงพาณิชย์และสินค้าเกษตรผสมผสานประยุกต์ใช้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ5.พัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน ตรงตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่คลังธนบุรี 1 เพื่อเป็นแหล่งช็อปปิ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2560 กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 และเมื่อพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทำให้ อคส.ต้องดึงโครงการนี้กลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้หรือไม่

ดังนั้น โครงการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้ว 3 ครั้ง และด้วยเหตุที่คาดว่าใช้งบประมาณลงทุนสูงประมาณ 1,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจเข้าเกณฑ์ภายใต้กฎหมายใหม่ ในมาตรา 7 (12) ประเภทกิจการอื่น ๆ ตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 9 ซึ่งกำหนดว่าโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่ามูลค่าที่กําหนด ต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกําหนด หากคณะกรรมการเห็นว่าโครงการร่วมลงทุนดังกล่าว มีความสําคัญหรือสอดคล้องกับแผนการจัดทําโครงการร่วมลงทุนตามมาตรา 12 คณะกรรมการจะกําหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดําเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดไว้ก็เป็นได้

“พื้นที่คลังธนบุรี 1 ประมาณ 15-19 ไร่ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ติดริมน้ำ นอกจากนี้ ยังมีคลังสินค้าประมาณ 9 หลังที่สามารถเปิดให้เอกชนมาเช่าเพื่อเก็บสินค้าได้ ซึ่งปัจจุบันให้เอกชนเข้ามาเช่าคลังหลายราย เพื่อเก็บสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขณะที่โครงการใหม่นั้นก็จะเปิดให้เช่าคลังแบบครบวงจรเพื่อขยายลูกค้าที่สนใจมาเช่าคลัง ซึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับ อคส.เอง”