“มนัญญา” เมินกระแส บริษัทยักษ์ใหญ่เคมีล็อบบี้ไทย แบนไกลโฟเซต

มนัญญา ไทย​เศรษฐ์​ รมช.เกษตรฯ
มนัญญา ไทย​เศรษฐ์​

“มนัญญา” ปัดบริษัทยักษ์ใหญ่เคมีล็อบบี้ไทย แบนไกลโฟเซต ยันโควต้านำเข้าพิจารณาตามพื้นที่การใช้ไม่เอื้อประโยน์ จี้แผนงานปี 64 กรมวิชาการเกษตรต้องปรับบทบาททำงานเชิงรุก ลงพื้นแปลงเกษตรคุมเข้มการใช้สารเคมี ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จำหน่ายสินค้าออแกนิค พร้อมสานต่อ “โครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตรกร เฟส 2” กระตุ้นจ้างงานตามนโยบายรัฐบาล

วันที่ 29 กันยายน เวลา 15.30 น. ที่โรงแรมปริ้นซ์​พาเลซ นางสาวมนัญญา ไทย​เศรษฐ์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์​ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายด้านการพัฒนาสหกรณ์​ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เคมีรายหนึ่งของเยอรมนี และรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวอ้างร่วมมือกันล็อบบี้ประเทศไทยให้เลิกแบนสารไกลโฟเซต เบื้องต้น ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

“ไม่รู้ว่า มีการแอบอ้างถึงเราบ่อยๆทำไม ยืนยันว่าในเรื่องของการจำกัดการใช้สารเคมี ไม่มีการเอื้อให้รายใดรายหนึ่งแน่นอน เพราะการใช้สารเคมีต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่การใช้และจะนำเข้ามาตามจำนวนโควต้า ที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้”

ทั้งนี้ เนื่องจากสารเคมี มีวันหมดอายุเช่นเดียวกับสินค้าทุกชนิด ซึ่งต้องดูที่ปริมาณการใช้ว่า ไทยความต้องการเท่าไหร่ หากมีการนำเข้ามามากเกินความจำเป็นก็จะเกิดความไม่สมดุล และไม่จำเป็นต้องกักตุนสารเคมีเพราะสารพวกนี้มีวันหมดอายุ

แม้ว่าจะมีความกังวลว่าจะนำไป ลดแลก แจก แถมให้กับเกษตรกร ในข้อนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้นการจำกัดปริมาณการนำเข้าสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำซึ่งกรมวิชาการเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ จากการทำประชาพิจารณ์ ประเด็น มาตรฐาน ISO ทางกรมวิชาการเกษตร ต้องกลับไปพิจารณาทบทวนในประเด็นที่มีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 10% ที่ขอให้มีการทบทวนเรื่องการแบนสารดังกล่าว

แต่มองว่าเรื่องนี้ถ้ามีการควบคุมมาตรฐานโรงงานให้มีมาตรฐาน ISO และมีการควบคุมการใช้ที่ชัดเจนปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

“แนวทางการแบนสารไกลโฟเซต ต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบเรื่องมาตรฐาน ISO ก่อน ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะสามารถเดินหน้าแบนได้ในปี 2564 หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีตัวใดหากเป็นอันตรายต่อชีวิตก็ต้องเดินหน้าแบนทั้งสิ้น จากความกังวลดังกล่าวทางคณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ (อย.) เพื่อตรวจตรารับรอง สินค้าเกษตรที่มีสารปนเปื้อน ขึ้นมาอีกด้วย”

ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่มีการนำเข้าแล้วพบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีที่ไทยได้มีการแบนนั้น ต้องให้อย.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะเน้นตรวจสอบนมนำเข้า เนื่องจากเป็นสินค้าที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก เป็นพื้นฐาน ซึ่งอาจส่งผลกะทบถึงชีวิตอนาคตได้

ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบสินค้าประเภทนี้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะมีการผลักดันให้ผู้บริโภคกลับมาบริโภคสินค้าไทย เพราะในปัจจุบันหลายที่เปลี่ยนมาทำนมออแกนิคมากขึ้น มั่นใจเรื่องคุณภาพได้มากกว่านมที่นำเข้ามา

สำหรับการดำเนินงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นกรมในการกำกับการดูแล ปี 2564 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งเน้นพัฒนาระบบ กลไกสหกรณ์ให้เข้มแข็ง และปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มีผลต่องบประมาณและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเกษตรปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้ต้องหาแนวทางปรับเปลี่ยนและหาโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงได้มี “โครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตรกร” จะดำเนินการ เฟส 2

พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่คืนสู่ภาคเกษตรให้พัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมด้านธุรกิจ นอกจากรองรับภาวะตกงาน ยังกระตุ้นเกิดการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

ส่วนแนวคิดในการยกระดับภาคเกษตร ของกรมนั้น จะสนันสนุนให้เกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ใช้การตลาดนำการผลิต และเพิ่มการจัดตั้งซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ ร้านค้าสหกรณ์ เชื่อมโยงการทำเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มุ่งเน้นออแกนิค ที่มีสัญลักษณ์ Fresh From Farm By Co-Op

พร้อมทั้ง สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ปรับบทบาทการทำงานเชิงรุก ให้ลงพื้นที่ตรวจตราสินค้าเกษตรปลอดภัย และทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการทำตลาดมากขึ้น ให้มากขึ้น

“ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงาน เพื่อยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการทำงานเชิงการพัฒนา การส่งเสริมด้านธุรกิจ และด้านการกำกับดูแลตรวจการสหกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และเน้นย้ำเรื่องการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มุ่งเน้นการแบ่งปันกำไรคืนสู่สมาชิก เนื่องจากสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน

เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานของสหกรณ์ควรจะต้องย้อนกลับไปหาสมาชิกสหกรณ์ให้มากที่สุด และเรื่องการผลิตสินค้าปลอดภัย และมีคุณภาพ และช่วยกันในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” นางสาวมนัญญากล่าว