กรมเจรจาฯ พร้อมศึกษาประโยชน์และผลกระทบ  ก่อนฟื้นเจรจา FTA ไทย-EFTA 

กรมเจรจาฯ พร้อมศึกษาประโยชน์และผลกระทบ อีกทั้งรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ก่อนฟื้นเจรจา FTA ไทย-EFTA  หนุนขยายตลาดส่งออกในกลุ่ม  EFTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯจัดสัมมนา “EFTA New Market in New Normal : การขยายตลาดใหม่รับชีวิตวิถีใหม่กับกลุ่มสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป” เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปและรวบรวมข้อมูลก่อนเสนอผลักดันฟื้นเจรจาต่อไป รวมทั้ง กรมฯ ได้มอบให้สถาบันสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
“ประเทศอาเซียนที่มี FTA กับ EFTA แล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศอาเซียนที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ EFTA มี FTA ด้วย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ชิลี เม็กซิโก และตุรกี ”

อย่างไรก็ดี  การเจรจา EFTA  หากผลักดันได้จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดส่งออกสินค้าและบริการของไทย และโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน EFTA รวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของ EFTA ในไทย โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาขีดความสามารถของไทย

สำหรับการค้ารวมระหว่างไทยกับ EFTA ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 9,892 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.6% ต่อปี โดยในปี 2562 การค้ารวมไทย-EFTA มีมูลค่า 9,770.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.22% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,570.18 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการค้า 2.02% และในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (ม.ค.–มิ.ย) การค้ารวมมีมูลค่า 5,322.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.11% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,239.22 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เป็นต้น

ปัจจุบัน EFTA) ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดย EFTA เป็นกลุ่มประเทศขนาดเล็ก แต่มีขนาดเศรษฐกิจในระดับชั้นนำของโลก ในปี 2562 มี GDP ต่อหัว (GDP per capita) เป็นอันดับ 2 ของโลกประมาณ 81,000 เหรียญสหรัฐ มีศักยภาพสูงด้านการผลิตสินค้าและบริการมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และการศึกษา รวมทั้งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลก มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด โดยมีภาคบริการเป็นส่วนสำคัญ เช่น สาขาการเงิน สาขาประกันภัย และสาขาโทรคมนาคม เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยและ EFTA ได้เคยเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันมาแล้ว 2 รอบ ในปี 2548–2549 โดยการเจรจาครอบคลุมในทุกเรื่อง เช่น การเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อเดือนก.ย.2559 ทำให้การเจรจาหยุดชะงักลง และภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลของไทยในปี 2562 EFTA ได้แสดงความพร้อมในการฟื้นการเจรจา แต่ไทยก็ต้องปรับตัวรับมือการเปิดตลาดและกฎระเบียบต่างๆ เพราะ EFTA เป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานสูง ใกล้เคียงกับสหภาพยุโรป