สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มากเท่าปี 2554

แฟ้มภาพประกอบข่าว

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (11 ต.ค.60) ยังคงมีน้ำไหลหลากจากตอนบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มากเท่าปี 2554 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่

​นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำเพิ่ม พบว่าวันนี้(11 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.97 เมตร แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือยังคงไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,386 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ยังคงได้รับผลกระทบเนื่องจากมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าวให้มากที่สุด โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 509 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่างต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 888 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 93 ของความจุที่ระดับเก็บกัก คงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 72 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯมาก ถึงวันละประมาณ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก วันละประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนที่จะไหลลงมารวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท – ป่าสัก กรมชลประทาน ได้ใช้เขื่อนพระรามหก ในการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก บริเวณอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีระดับน้ำเพิ่มสูง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ตอนบน

​อนึ่ง กรณีที่มีหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำในปีนี้ จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554 ได้นั้น หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เวลาเดียวกัน (11 ต.ค.) จะเห็นได้ว่าปี 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มากถึง 4,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 3,634 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์เพียง 2,630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,386 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อ.บางไทร 2,404 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปี 2554 มาก จึงเป็นไปได้ยากมากที่สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ จะเกิดขึ้นเหมือนเช่นปี 2554 ที่ผ่านมา