สมรภูมิตลาดไก่เดือด น้องใหม่ “สตาร์ฟู้ด” โตพรวด

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากบุกเบิกไทยฟู้ดเมื่อปี 2549 “น.สพ.ไชยศักดิ์ รุจธนทรัพย์” อดีตซีอีโอก็ผันตัวไปทำงานเบื้องหลังบริษัทไก่ชั้นนำอยู่นาน แต่ล่าสุดในวันนี้ได้หวนคืนสมรภูมิอีกครั้ง ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทสตาร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด โดยผนึกกำลังกับ ร.ต.ศักดิ์ดา มณีพรรณ ประธานกรรมการบริหาร และ “ประชาชาติธุรกิจ”ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงเส้นทาง 6 ปี ในการบุกเบิกธุรกิจนี้เมื่อปี 2557ด้วยเงินลงทุน 8 ล้านบาท เชือดไก่2,000 ตัวต่อวัน จนถึงวันนี้เชือดวันละ1 แสนตัว และกำลังอัพไซซ์ขึ้นเป็นผู้ส่งออกไก่ 1 แสนตัว

ภาพรวม “สตาร์ฟู้ดฯ”

การเติบโตที่นี่คล้ายกันกับบริษัทที่เคยทำ เพราะเรารู้ระบบ และด้วยแนวคิดที่เราเคยทำมาแล้วมาดัดแปลงทำให้ดีขึ้น และเร็วขึ้น สตาร์ฟู้ดฯเริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2557 จากตลาดในประเทศโรงเชือดไก่ 2,000 ตัน งบฯลงทุนโรงเชือด 8 ล้านบาท จนกระทั่งถึงวันนี้รวม 6 ปี วันนี้เชือด 100,000 ตัว ยอดขายปี 2557 อยู่ที่ 152 ล้านบาทแล้วค่อย ๆขยับโตขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 30-40% โดยมีอยู่ปีหนึ่ง คือปี 2559 ที่เติบโตถึง 100% สู่ปี 2560 รายได้ยอดขายจาก450 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้าน

“ตอนนี้ภาพรวมมีบริษัทในเครือจะครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องครบวงจร ประกอบด้วย บริษัท สตาร์ฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท สตาร์ฟู้ดส์ อาหารสัตว์ จำกัด, บริษัท สตาร์ฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท สตาร์ฟู้ดส์ โพลทรีย์ ฟาร์มจำกัด, บริษัท สตาร์ฟู้ด เทรดดิ้ง จำกัด,บริษัท สตาร์ฟู้ด โพลทรีย์ โพรเซสซิ่ง จำกัด และบริษัท โปรแพค (2017) จำกัด”

เปิดแผนลงทุน 10 ปี”57-67

ขณะนี้ได้กำลังก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บนพื้นที่ 48 ไร่ กำลังการผลิต 50,000 ตันต่อเดือน งบฯลงทุน 350 ล้านบาทคืบหน้าไปกว่า 60% คาดว่าเมษายน 2564จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้เรามีวัตถุดิบอาหารสัตว์สำหรับป้อนให้ฟาร์มในเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ อ.โพธาราม ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจฟาร์มไก่เรามี800,000 แสนตัว แบ่งเป็น 4-5 ฟาร์มซึ่งเมื่อมีการผลิตไก่-อาหารสัตว์ก็นำมาสู่การตั้งบริษัทสตาร์ฟู้ด โลจิสติกส์เซอร์วิสเอง

เมื่อธุรกิจอาหารสัตว์ครบถ้วนแล้ว เรามีแผนจะลงทุนในบริษัทโพลทรีย์ เพื่อผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ และลูกไก่เอง จากตอนนี้ที่เรายัง “ซื้อลูกไก่” อยู่ แต่ตามแผนเรา ใน 2 ปีจะผลิตลูกไก่เองคาพาซิตี้ลูกไก่เป้าหมาย 1.2 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ทำให้มีจำนวนไก่เพิ่มจาก 5-6 ล้านตัวต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 12 ล้านตัวต่อสัปดาห์ในปี 2566-2567 ซึ่ง

เป้าหมายนี้เราคิดว่าครึ่งหนึ่งเราจะผลิตไก่เอง และอีกครึ่งเป็นของเกษตรกรจากปัจจุบันเลี้ยงเอง 20% จากเกษตรกร 80% เราได้วางแผนเผื่อพื้นที่การเลี้ยงไก่ไว้เพื่อให้มีไก่เพียงพอป้อนโรงงานช่วงพักฟาร์ม

“ในส่วนของคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเราร่วมเอ็มโอยูกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้มีอาชีพ มีงานทำในพื้นที่รัศมี 150 กม.รอบ ๆ โรงเชือด การลงทุนฟาร์มยูนิตละ 4 หมื่นบาท เขาลงทุนเอง 25% แบงก์ปล่อยให้อีก75% การลงทุนไก่ 400 บาทต่อตัว ตั้งแต่ที่ดินจนลงเล้า ลูกค้าต้องมี 25% ของ 400 บาท และอีก 75% ธ.ก.ส.จะให้เงินกู้ ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนมาก”

อีก 2 ปีพร้อมส่งออกไก่

ด้านการตลาด สำหรับตลาดในประเทศ เรามีสตาร์ฟู้ด เทรดดิ้ง ที่จะทำค้าส่งและค้าปลีก ในอนาคตจะเป็นในลักษณะออนไลน์เทรดดิ้ง โซเชียลซูเปอร์มาร์เก็ต ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอาหาร เช่น ฟู้ดทรัก ทั้งยังมีบริษัทโปรแพคทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกเอง

“สเต็ปต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้าวางแผนขยายอีกโรงงาน สตาร์ฟู้ด โพลทรีย์โพรเซสซิ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโรงเชือดไก่อีก 1 แสนตัว ที่ อ.บางเลน เพื่อทำตลาดส่งออก ตอนนั้นเรามีกำลังการผลิต 2 แสนตัวต่อวัน มาร์เก็ตแชร์น่าจะอยู่อันดับที่ 7-8 นับจากกำลังการเชือดของแบบอินทิเกรต อัพไซซ์จากขนาดเล็กเป็นขนาดกลางสำหรับโรงงานแบบครบวงจร แต่หากนับเฉพาะโรงเชือดที่ไม่มีส่งออก ตอนนี้เราคืออันดับ 1”

“อัพไซซ์” แต่งตัวเข้าตลาด

ยอดขายปีนี้ 6 เดือนแรก 1,242ล้านบาทจากปี 2562 ทั้งปีมูลค่า1,999 ล้านบาท ยอดขายลดลงจากโควิดเล็กน้อยช่วงเดือนเมษายน แต่เท่าที่ประเมินภาพรวมทั้งปีนี้จะมียอดขายได้ถึง 2,200 ล้านบาท จากที่ประชาชนเริ่มกลับมาบริโภคมากกว่าเมษายนที่จะเชือด7-8 หมื่น ตอนนี้เป็น 1 แสนตัวแล้ว

“เราต้องวางแผนขยายทุกอย่างเพื่อรองรับแผนการผลิตที่วางไว้ มองว่าปี 2566 จะเพิ่มได้เป็น 5,500-6,000 ล้านบาท เพราะมีอาหารสัตว์เข้ามาด้วย ซึ่งเราตั้งใจว่าอีก 7 ปีข้างหน้า เราจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยยอดขายใกล้เคียง 9,000 ล้านบาท จากการลงทุนขยายการผลิตเพิ่ม ทำให้มียอดขายเพิ่ม ปูทางเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

สู่ “ธุรกิจหมู” ครบวงจร

“เราปูทางตั้งแต่ปี 2563 อาหารสัตว์เสร็จปี 2564 ควบคู่กับการเพิ่มการเลี้ยงไก่ให้มีตัวกินเพิ่ม เพราะอาหารสัตว์ที่ผลิตได้5 หมื่นตัน จะมีอาหารเหลือจากปัจจุบันกินอยู่ 1 หมื่นตัน จึงไม่พอในช่วงนั้นเราเลยวางแผนเพิ่มโรงเชือด ซึ่งจะต้องการใช้อาหารสัตว์เพิ่มอีก 1 หมื่นตันแต่ก็ยังเหลืออีก 3 หมื่นตัน ดังนั้น จะต้องมีการลงทุนธุรกิจหมูมาเพิ่ม”

โดยแพลนว่าในอีก 1-2 เดือนนี้จะทดลองลงทุนโรงตัดแต่งหมูก่อน ด้วยงบประมาณ 50-70 ล้านบาท เพื่อดูตลาดว่าจะเริ่มเลี้ยงเท่าไร แต่เป้าหมายตามแผนการลงทุนคือจะมีแม่พันธุ์หมู6 หมื่นตัว เริ่มลงเลี้ยงในปี 2564 ก่อน 2 หมื่นตัว เป็น 4 หมื่นตัวในปี 2565และเป็น 6 หมื่นตัวในปี 2567 เตรียมงบประมาณไว้ 1,000 ล้านบาท ราคาแม่หมูตัวหนึ่งก็ราคา 5-4 หมื่นบาท”

ความท้าทาย “ฟาร์มหมู”

ที่ผ่านมาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรก็มีส่วนต่อตลาดไก่บ้าง บางชิ้นส่วนทดแทนได้ แต่ราคาก็เป็นไปตาม”ฮั่งเช้ง” ขึ้นลงตามดีมานด์-ซัพพลาย พอเพิร์ชมาช่วยให้ราคาไก่ลงไม่แรงการที่เราเลือกลงทุนหมูทั้งที่ต้นทุนสูงและมีปัญหาเรื่องโรคเพราะมองว่าโอกาสในอนาคต ธุรกิจนี้จะต้องไปสู่การส่งออกแน่นอน และราคาก่อนส่งออก กก.ละ 80 บาท และพอหมูมีโรคที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนธุรกิจนี้ เพราะมันลงทุนสูงกว่าไก่ 7 เท่า แต่โอกาสตลาดมันดีกว่าจุดอ่อนหมูคือเรื่องโรค ฉะนั้นต้องมีไบโอซีเคียวริตี้แข็งแรง ซึ่งเรามีทีมผู้เชี่ยวชาญทำงานในด้านนี้

“วันนี้ต้องมาแข่งกันที่ต้นทุนการผลิต ฉะนั้น เราต้องโลว์คอสต์ โลว์ลอสต้องทำอย่างไร เรามองสถานการณ์วันนี้และเห็นภาพอีก 3 เดือนข้างหน้า เช่นว่า ปัจจุบันราคาไก่ลดลง ผู้เลี้ยงก็จะเริ่มปลดพ่อแม่พันธุ์ ของก็จะเริ่มขาด มีไซเคิล ปลายทางไม่มีของ คนกินต้องซื้อแพง”


“ผมไม่ได้แข่งขัน ไม่ได้ไปชนกับใครเพียงแต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เปอร์เซ็นต์สูญเสียน้อยที่สุด รอดมากที่สุด น้ำหนักดีที่สุด ณ จุดที่เราต้องการขาย เราไม่สนใจใครจะใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ สำคัญที่ทำภายในให้แข็งแรง ถ้าต้นทุนผมต่ำกว่าคุณ ผมขายผมไม่กลัว ที่โตพรวด ๆ คือจังหวะการลงทุนและกลยุทธ์ในการวางแผน อินโนเวชั่นต้องแข็งแรง”